วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สิ่งที่ต้องทำ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ในการเลี้ยงกระต่าย

ทุกวัน

* ตรวจสอบสุขภาพกระต่ายประจำวัน สังเกตุการนั่ง เดิน ยืน ตรวจเล็บ สุขภาพขน และสุขภาพหู
* ปล่อยกระต่ายวิ่งเล่น เราอาจกั้นพื้นที่บางส่วนไว้ให้กระต่ายได้ออกกำลังกายในช่วงที่เราทำความ สะอาดกรงของกระต่ายในตอนเช้า-เย็น (แล้วแต่ความสะดวกของผู้เลี้ยง)
* เก็บเศษผักสด ผลไม้เก่าที่กระต่ายทานไม่หมดทิ้ง เพราะเศษอาหารที่เหลือตกค้างนี้ หากกระต่ายทานเข้าไปอีกอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
* เก็บเศษอาหารเม็ดเก่าทิ้ง เพราะอาหารเม็ดที่เหลือเหล่านี้จะเกิดการบวมชื้น กระต่ายจะไม่ทานส่วนที่เหลือ ดังนั้นในแต่ละมื้ออาหารควรกำหนดปริมาณอาหารเม็ดให้พอดีสำหรับ 1 มื้อเสมอ
* เก็บเศษหญ้าสด/หญ้าแห้งทิ้ง เศษหญ้าเหล่าเมื่อทิ้งไว้ในกรงอาจเกิดการขึ้นราหรือปนเปื้อนกับมูลหรือฉี่กระต่าย
* ทำความสะอาดถาดรองกรง
* เทน้ำเก่าในขวดน้ำทิ้ง แล้วเติมน้ำสะอาดให้เต็ม
* ให้อาหารเม็ด หญ้าสด/หญ้าแห้ง หรือผักสด/ผลไม้ โดยกะปริมาณอาหารให้กระต่ายทานหมดใน 1 มื้อ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทุกสัปดาห์

* ล้างทำความสะอาดขวดน้ำ กระถางใส่อาหาร ที่แขวนหญ้า ด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อผสมเจือจาง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ต้องมั่นใจว่าไม่มีสารตกค้างหลงเหลือก่อนนำกลับไปใช้เลี้ยงกระต่ายอีกครั้ง
* ทำความสะอาดถาดรองกรง และตากแดดให้แห้งสนิท

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทุกเดือน

* ทำความสะอาดกรง ถาดรองกรง พื้นใต้กรง ผนังกำแพง ในบริเวณที่ใช้เลี้ยงกระต่าย ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อผสมเจือจาง แล้วล้างออกให้สะอาดก่อนนำกระต่ายกลับเข้ากรง
* ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงกระต่ายทั้งหมด รวมทั้งของเล่นของกระต่าย

หากเราปฏิบัติได้ในทุกๆ ข้อ จนเป็นความเคยชินแล้ว จะทำให้กระต่ายนั้นมีสุขอนามัยที่ดี ย่อมส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของกระต่ายนั้นดีเช่นกัน กระต่ายที่มีสุขภาพสมบูรณ์ จะร่าเริงแจ่มใส สะอาดสะอ้าน น่ารักน่าอุ้ม ขนสวยนุ่ม และขี้เล่น


*** แค่นี้ เจ้าขนฟู ที่บ้านของเพื่อนๆสมาชิกก็จะัอยุ่กลับเรานานๆ แล้วก็จะ น่ารักทุกวัน ***

ภาษาของกระต่าย

แม้ว่ากระต่ายจะมีมานาน ในเมืองไทย แต่จะมีผู้เลี้ยงซักกี่คน ที่สนใจจะเรียนรู้ภาษากระต่าย เพราะว่า กระต่ายพูดไม่ได้ เราจึงเข้าใจในกระต่ายได้ยาก แต่กระต่ายก็มีภาษากายนะคะ หากเราค่อยๆสังเกต และทำความข้าใจ เราก็จะเข้าใจในสิ่งที่เค้าพยายามสื่อสารกับเราได้ค่ะ

ภาษากระต่าย

1. กระต่ายไม่ค่อยร้อง และสื่อสารกันด้วยกลิ่น

ถึงแม้ว่ากระต่ายเป็นสัตว์สังคม แต่ว่าพวกเค้าไม่มีการทักทายกันที่ส่งเสียงดังเหมือนเดียวกับสัตว์อื่น ๆ เช่นสุนัข หรือแมว นั่นเป็นเพราะว่าพวกเค้า เป็นผู้ถูกล่า และการส่งเสียงดังนั้นย่อมเป็นการบอกให้สัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นผู้ล่านั้น
รู้ถึงตำแหน่งของพวกเค้า ดังนั้นเค้าจะเงียบ และใช้กลิ่นในการสื่อสารกันเสียส่วนใหญ่ค่ะ ซึ่งการใช้กลิ่นสำหรับกระต่ายนั้น สำคัญมากค่ะ และกระต่ายมีจมูกที่ไวมาก นับเป็นการสื่อสาร ที่พัฒนาไปมากที่สุดของกระต่ายก็ว่าได้

การใช้กลิ่นนั้น ก็เหมือนกับเป็นบันทึกลับที่กระต่ายบันทึกเอาไว้ให้แก่กันและกัน จะมีเฉพาะกระต่ายที่เข้าใจกัน เช่น เค้าสามารถจะบอกกันได้ว่า ที่ตรงนี้เป็นอาณาเขตของเค้าหรือเปล่า โดยไม่ต้องพูดกันซักคำ นอกจากนี้ กลิ่นยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการสื่อสารในที่มืด หรือในยามที่ กระต่ายไม่ต้องการให้ตัวเค้าเป็นที่สนใจ ของสัตว์อื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสัตว์ที่มีผู้ล่ามากมายเช่นกระต่าย


นอกจากนี้ กระต่ายนั้น ก็มักจะไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อเค้ารู้สึกเจ็บปวดหรือหวาดกลัว
ซึ่งทำให้การแสดงออกต่าง ๆ ของกระต่ายนั้น มักจะไม่ทำให้เจ้าของสังเกต เพราะว่าการแสดงออก ถึงความอ่อนแอ หากอยู่ในธรรมชาติ เค้าจะตกเป็นเป้าโจมตีของศัตรูได้ง่าย และด้วยความที่เค้าไม่ร้อง เลยทำให้เราคาดคะเนได้ยากว่าเค้าต้องการอะไร หรือป่วยหรือไม่


2. การส่งเสียงร้อง

ตามปกติกระต่ายจะไม่ค่อยส่งเสียงร้องพร่ำเพรื่อค่ะ แต่จะร้องเสียงดังเมื่อเจ็บปวด

3. อาการก้าวร้าว

ปกติแล้วกระต่ายจะอ่อนโยน สุภาพ แต่หากเค้ากลัวมากๆ เค้าก็อาจจะมีอาการก้าวร้าวเช่น กัด หรือ ถีบได้ หากเป็นแบบนี้แปลว่าเค้าไม่ไว้ใจเราค่ะ เราต้องอาศัยเวลาเพื่อให้เค้ารู้ว่า เรารักและจะไม่ทำร้ายเค้า พยายามอย่าทำให้เค้าตกใจกลัว

4. อาการแสดงความเหนือกว่า

กระต่ายบางตัว จะชอบแสดงความเหนือกว่า จะข่มกระต่ายด้วยกัน รวมแม้กระทั่งเจ้าของ เราจะสังเกตเห็นง่ายๆ เช่น เค้าพยายามฉี่รดที่นอนเรา หรือว่า พยายามฉี่บนเก้าอี้ตัวโปรดของเรา รวมแม้กระทั่ง การไปฉี่รดมุมกรงของกระต่ายตัวอื่นๆ พฤติกรรมนี้ เป็นการประกาศถิ่นค่ะ ว่าถิ่นนี้เป็นของเค้า ไม่ใช่ของเรา เหมือนๆกับเด็กที่เอาปากกาเมจิก เที่ยวไล่ขีดบริเวณอาณาเขตของตัวเองบนพื้นห้องนั่นแหละ เราสามารถจะแก้นิสัยนี้ได้ค่ะ โดยหากเค้าฉี่รดที่ๆไม่เหมาะสม เช่น บนเตียง เราก็ต้องกันไม่ให้กระต่ายขึ้นไปบนเตียง เป็นต้น โดยเมื่อเค้าพยายามจะเข้าไปในเขตนั้นเมื่อไร เราก็จับเค้าไปวางไว้ที่อื่นตลอด เค้าจะรู้เองในที่สุด

5. กระทืบเท้า

เมื่ออยู่ตามธรรมชาติ การกระทืบเท้าลงบนพื้น คือ สัญญาณที่แสดงถึงความวิตกหรือหวาดกลัวของพวก เค้า โดยการ กระทืบขาหลังของเค้าลงที่พื้น การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นเพียงการเตือนเพื่อน ๆ ของเค้าที่อยู่บนพื้นดิน ถึงความไม่ชอบมาพากลเท่านั้น แต่เสียงสะท้อนที่ส่งไปยังพื้นดิน ยังเป็นการเตือนกระต่ายที่อยู่ในรังด้วย ว่าอย่าขึ้นมาบนพื้นดิน

ท่าทางคือกระต่ายจะกระทืบเท้าหลังลงบนพื้น หรืออาจจะทำการยกขาหลังทั้งคู่ดีดขึ้น แล้วกระแทกลงกับพื้น และบางทีก็ฉี่ไปด้วย หลายๆครั้งท่าทางเหล่านี้ ก็ยังบ่งบอกถึงอาการไม่ชอบใจค่ะ อาการนี้เหมือนกับเด็กค่ะ ที่กระทืบเท้าไปมาเวลาที่โดนขัดใจ ไม่พอใจ

เราจะเห็นกระต่ายทำท่านี้เมื่อเค้า วิตกกังวล หรือเครียด กระต่ายบางตัวทำท่านี้ เมื่อเราพยายามจะเข้าไปไล่ตะครุบตัวเค้า หรือ บางทีเราจะเจอกระต่ายทำท่านี้เมื่อเราย้ายเค้ามาอยู่ในกรงที่คับแคบ กว่าเดิม อาการแบบนี้บางครั้งก็เป็นการข่มขู่ไปด้วย อย่างกระต่ายบางตัวที่ไม่คุ้นเคยกับคน และกลัวคนมาก หากเค้าทำท่านี้แล้วเรายังพยายามเข้าไปจับ เค้าอาจจะต่อสู้ค่ะ

หรือบางครั้งการกระทืบเท้าก็เป็นการแสดงให้เราเห็นว่า เค้าไม่พอใจอะไรบางอย่าง และ พยายามเรียกร้องให้เราทำอะไรให้ เช่น อยากได้อาหารเพิ่ม เป็นต้น

6. ตำแหน่งของหูและหาง

กระต่ายจะใช้ร่างกายในการสื่อสารกับเรา เมื่อกระต่ายกำลังจะจู่โจม มันจะยืดตัวขึ้นตรง และยืดหางออก แล้วก็กระดกหูไปด้านหลัง แต่หากว่า เค้าเอาหูลู่ไปทางด้านหลัง แต่นั่งอยู่ไม่ได้ยืดตัวขึ้นตรง แปลว่า กำลังตั้งรับค่ะ และกระต่ายที่ตั้งรับอยู่อาจจะหาจังหวะจู่โจมกลับได้ค่ะ

7. การทำเครื่องหมาย ด้วยกลิ่นใต้คาง


กระต่าย โดยเฉพาะเพศผู้ เราจะเห็นบ่อยว่าเค้าชอบเอาคางถูกับโน่นนี่ ไม่ว่าจะเป็นรอบๆบ้าน หรือว่า กับของในกรง กระต่ายทั้งสองเพศต่างก็มีลักษณะนิสัยนี้เหมือนกัน แต่กระต่ายตัวผู้นั้นอาจจะกระตือรือร้นมากหน่อยและอาจมีคางที่ชื้นและเหนียว
เนื่องจากการหลั่งสาร ของต่อมกลิ่นของเค้าซึ่งอยู่บริเวณนั้น

เค้าทำเครื่องหมายบ่งบอกพื้นที่ของเค้า เพราะว่ากระต่ายจะมีต่อมกลิ่นอยู่บริเวณหัว และเค้าจะเอาต่อมกลิ่นนี้ ไปถูกับสิ่งของ ที่เค้าคิดว่าอยู่ในอาณาเขตเค้า เพื่อประกาศให้กระต่ายตัวอื่นรู้ว่าเค้าเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ยังใช้เป็นการจำแนกเพื่อนสมาชิกกระต่าย ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันอีกด้วย เหมือน ๆ กับการที่สมาชิกในกลุ่มเดียวกัน จะมีป้ายชื่อหรือเสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงกลุ่มที่ตัวเองอยู่
วิธีการนี้ยังเป็นการทำให้กระต่ายมั่นใจว่า เค้ากำลังอยู่กับเพื่อน ๆ ของเค้าเอง ในอาณาเขตของเค้าเอง และยังช่วยขัดขวางการรุกรานอีกด้วย

8. การอึไปรอบๆ

นอกจากนี้กระต่ายยังสร้างกลิ่นไว้กับมูลของพวกเค้าด้วย โดยจะทิ้งมูลเอาไว้ในขณะที่เดินทางไปรอบ ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหาอาหาร (มูลของกระต่ายนั้นเป็นปุ๋ยอย่างดี เนื่องจากมีแร่ธาตุไนโตรเจนสูง) กระต่าย
ยังจะขุดดินบริเวณไกล้ ๆ กับขอบอาณาเขตของเค้า แล้วทิ้งมูลเอาไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์

อย่างไรก็ตาม นิสัยในการขับถ่ายอย่างหนึ่งของกระต่ายที่น่าประทับใจก็คือการใช้พื้นที่ที่เป็นห้องน้ำ
ซึ่งเป็นนิสัยตามธรรมชาติที่ทำให้เราสามารถสอนกระต่ายให้เข้าห้องน้ำได้ค่อนข้างง่าย

ตามธรรมชาติ ห้องน้ำของกระต่ายจะถูกใช้โดยสมาชิกทุกตัวภายในกลุ่ม และอาจถูกสร้างขึ้นมาจาก กองมูลของพวกเค้า โดยทั่วไปห้องน้ำเหล่านี้จะอยู่ในบริเวณที่สูง

ห้องน้ำนี้จะเป็นสัญลักษณ์ให้กับกระต่ายทั้งในด้านการมองเห็นและกลิ่น สำหรับเหล่ากระต่ายแล้ว
ห้องน้ำนี้ก็เหมือนเป็นการประกาศว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นของกระต่ายอีกกลุ่มไหน เป็นการเตือนหาก พวกเค้ากำลังเข้าใกล้อาณาเขตของกระต่ายอีกกลุ่มหนึ่ง


8. การทำเครื่องหมายด้วยกลิ่นปัสสาวะ

วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่กวนใจเราที่สุดของกระต่ายก็คือการปัสสาวะ กระต่ายนั้นไม่เหมือนกับสุนัขหรือแมว หรอกนะคะ
ที่จะปัสสาวะใส่วัถุต่าง ๆ ในอาณาเขตของตัวเองเท่านั้น แต่ว่ากระต่ายนั้นจะปัสสาวะใส่กันและกัน
และในบางครั้งยังจะปัสสาวะใส่คนด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่บ่อยก็ตาม

นิสัยเหล่านี้จะพบบ่อยในกระต่ายตัวผู้ การปัสสาวะ บางครั้งจะปัสสาวะจะหมายความถึง กระต่ายที่เป็นลูกน้องหรือผู้รุกราน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการขอความรัก

การขอความรักนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับกระต่าย และกระต่ายตัวผู้ก็จะเอาจริงเอาจังกับมันมากทีเดียว
เวลาที่กระต่ายตัวผู้พบตัวเมียที่ถูกใจ อันดับแรกเค้าจะทำการขอความรักโดยการเดินตามตัวเมียไป
หลังจากนั้นอาจเป็นการเดินเข้า ๆ ออก ๆ จากตัวเมียในขณะที่ยกหางของมันขึ้น หากกระต่ายตัวเมียยังไม่สนใจ
เค้าจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้น โดยการวิ่งเลยตัวเมียไปและปัสสาวะใส่
กระต่ายเลี้ยงบางส่วนจะเรียนรู้ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่พวกเค้าสามารถใช้เรียกร้องความสนใจจากเจ้าของได้


9. เลีย

เคยเห็นแม่กระต่ายไหมคะ เค้าจะแสดงความรักกับลูกๆ ด้วยการเลียค่ะ หากกระต่ายเลียใครล่ะก็ เป็นการบอกว่าเค้ารักคน ๆ นั้นค่ะ

10. การเอาหัวดันเรา


กระต่ายจะเอาส่วนจมูกดันเราเพื่อเรียกร้องความสนใจค่ะ หรือเวลาที่เค้าพยายามข่วนพื้น โดนใช้ขาหน้า ท่าทางเหล่านี้ก็เพื่อให้เราสนใจค่ะ(คล้ายๆการสะกิดของคนนั่นหละค่ะ) แต่บางครั้งท่าทางคล้ายๆกันนี้ ้ก็เป็นการบอกให้เราหยุดได้แล้ว เช่น หากเรายัดเยียดอาหารกระต่าย แต่กระต่ายอิ่มแล้ว กระต่ายอาจจะพยายามเอาช่วงจมูกดันมือเราออกไป มันเป็นการบอกเราว่า" ขอบคุณแต่ว่า พอได้แล้วหละ หยุดเถอะ"

10. การงับหรือแทะๆ

บางครั้งกระต่ายจะงับเรา เพื่อเรียกร้องให้เราสนใจเค้า หรืออยากให้เราทำอะไรบางอย่างให้ การงับไม่ใช่การกัดนะคะ คนละแบบกับการกัดเพื่อต่อสู้ค่ะ

ซึ่งบางทีเค้าก็ไม่รู้หรอกค่ะ ว่าการทำแบบนั้นบางครั้งทำให้เราเจ็บ เค้าเพียงแต่ต้องการเรียกร้องความสนใจค่ะ เชื่อหรือไม่คะ ว่ากระต่ายไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เราเจ็บค่ะ ซึ่งอันนี้แก้ได้โดย หากเราเจ็บและร้องออกมาทุกครั้งที่เค้างับแรงๆ กระต่ายจะเรียนรู้เองว่าจะต้องงับเบากว่าเดิม หรือไม่ก็เลิกงับไปเลยก็มีค่ะ

แต่บางครั้งอาการงับนี่ก็เป็นการแสดงให้เห็น ถึงความเหนือกว่าค่ะ เช่นหากกระต่ายพยายามงับเราเมื่อเรา นั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง นั่นคือกระต่ายพยายามจะบอกว่า "เก้าอี้นี่เป็นที่ของกระต่ายนะ และคุณควรจะออกไป" วิธีแก้ก็คือ ให้ร้องค่ะ ให้กระต่ายรู้ว่าเราเจ็บ และวางกระต่ายลงบนพื้น และค่อยๆเอามือกดหัวกระต่ายลงเบาๆ อาการนี้เป็นอาการบอกกระต่ายว่า "เราเหนือกว่า เราคือเจ้านายนะ" ให้ทำแบบนี้หลายๆครั้งจนกว่ากระต่ายจะ เลิกท้าทายเรา หากทำยังงั้นแล้ว เค้ายังไม่เข้าใจ ก็ให้เราเอาเค้าไปไว้ในกรงซักพัก เพื่อให้กระต่ายรู้ได้เองว่า "ไม่ใช่หรอก ที่ของกระต่ายคือในกรงต่างหาก"

11. นอนเหยียดยาว
หากกระต่ายนอนโดยยืดขาออกจนสุด หูตกลงมาราบกับลำตัว ตาหรี่ลงครึ่งนึง แปลว่าอยากจะนอนพักผ่อน โดยไม่ต้องการการรบกวนค่ะ


12. กัดทึ้งขนตัวเอง
หากกระต่ายเพศเมีย กัดดึงขนของตัวเองออกมาสะสมไว้ในปาก แล้วเอาไปซุกไว้ตามที่ต่างๆ วิ่งไปวิ่งมารอบ ๆ หรือคาบสิ่งของหรือเศษผ้ามากองไว้ แปลว่ากระต่ายเตรียมจะทำรังคลอดลูกที่นั่น

13. ยืนด้วยขาหลัง ยกขาหน้าขึ้นกลางอากาศ

เป็นท่าขอค่ะ เช่นกระต่ายอยากจะได้อะไรที่อยู่ในมือเรา หรืออยู่สูงกว่า เช่น ขออาหาร

14. งับสิ่งของแล้วเหวี่ยงขึ้นลงไปมา
เป็นการแสดงอาการหงุดหงิดค่ะ

15. อาการหาคู่
กระต่ายที่โตขึ้นมา มีฮอร์โมนมาผลักดัน แล้วพยายามหาคู่ผสมพันธุ์ แต่ว่า ไม่มีคู่ กระต่ายจะหงุดหงิดค่ะ และแสดงอาการก้าวร้าวออกมา ส่วนใหญ่จะแสดงอาการคือ วิ่งวนไปมารอบๆเท้าเจ้าของ พยายามปีนเจ้าของหรือสิ่งของ และมีกัดเจ้าของในบางครั้ง ซึ่งอาการเหล่านี้แก้ไดยการ ทำหมันค่ะ

15. การขุด

การขุดเป็นนิสัยตามธรรมชาติค่ะ เพราะว่ากระต่ายจะอาศัยอยู่ในโพรง เค้าจึงมักจะขุดโน่นนี่ แต่หากการขุดของกระต่ายทำให้สิ่งของในบ้านเสียหาย เราสามารถจะแก้ได้โดย เบี่ยงความสนใจของเค้า และเอากล่องเปล่ามาให้เค้าค่ะ และวางเค้าลงไป ให้เค้าขุดกล่องเปล่าเล่นแทน พอเค้าขุดกล่องเปล่าเราก็ให้ขนมเค้า เป็นรางวัล และขัดขวางเค้าทุกครั้งที่เค้าพยายามจะขุดสิ่งของหรือบริเวณที่เราไม่อยากให้ขุด ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เค้าจะเข้าใจเองค่ะ ว่าหากอยากขุดก็ควรจะขุดในกล่องที่เราเตรียมไว้ให้


16. อาการหมอบกดตัวเองลงกับพื้น

กระต่ายกดตัวเองลงกับพื้น เป็นอาการที่เกิดจากความกลัวค่ะ เหมือนเรา เวลาเรากลัวมากๆเราจะพยายามหดตัวให้เล็กที่สุด กระต่ายก็หมือนกันค่ะ

17. การปีนขึ้นหลังตัวอื่น
กระต่ายที่โตกว่า บางครั้งจะปีนขึ้นไปบนหลังตัวอื่น แม้ว่าบางทีจะเป็นเพศเดียวกัน นั่นไม่ได้แปลว่า กระต่ายเป็นเกย์หรอกนะคะ แต่ท่าการปีนที่คล้ายการผสมพันธุ์นี้ เป็นอาการข่มตัวอื่นค่ะ กระต่ายตัวที่ปีนขึ้นหลังตัวอื่นทำแบบนี้ เพื่อเป็นการบอกว่า "ฉันเหนือกว่า"

18. นอนเอาหัวอิงกัน
หากกระต่ายนอนพิงกัน เองหัวเกยกับอีกตัว แปลว่ากระต่ายทั้งคู่เข้ากันได้ดีค่ะ

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

สายพันธุ์กระต่าย

**ประวัติความเป็นมา**
เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 1880 หรือราว พ.ศ. 2423 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ปรากฏว่ามีกระต่ายสายพันธุ์ดัทช์ได้ให้กำเนิดลูกหลากหลายครอกที่มี สีขาวแต่มีลายสีต่างๆ ไม่เป็นสีขาวทั้งตัว มีตาสีแดง มีลักษณะลำตัวที่เล็ก สั้นกระทัดรัด มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.6 ถึง 2 กิโลกรัม แต่มีขนที่นุ่มลื่นสวยงาม ซึ่งเป็นที่มาของกระต่ายโปลิช (Polish) แม้ว่ากระต่ายที่ได้จะยังมีเลือดที่ไม่นิ่ง แต่การผสมแบบในสายเลือด (Line Breeding) ทำให้ได้กระต่ายในรุ่นต่อมาที่มีสีขาวมากขึ้น จนกระทั่งได้กระต่ายสีขาวล้วน ตาสีทับทิม (Ruby-Eyed White) ที่เป็นต้นกำเนิดของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ในปัจจุบัน
ด้วยแรงบันดาลใจจากการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์โปลิช มายังสหราชอาณาจักรอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1884 หรือ พ.ศ. 2427 กระต่ายพันธุ์โปลิชจากประเทศเยอรมัน ได้ถูกนำมาผสมข้ามพันธุ์กับกระต่ายป่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดเล็กโดยบังเอิญ จนทำให้เกิดการถ่ายทอดยีนส์แคระลงในกระต่ายพันธุ์โปลิช ทำให้มีขนาดเล็กและมีลำตัวที่สั้นลง ในเวลานั้นกระต่ายแคระ จึงมีแต่สีขาวล้วนและมีตาสีทับทิม
ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระต่ายแคระ สีขาวตาฟ้า (Blue-Eyed White) ได้ถือกำเนิดขึ้นในจักรวรรดิเยอรมัน แต่ลักษณะของกระต่ายแคระสีขาวตาฟ้าในขณะนั้นจะมีโครงสร้างกระดูกที่ใหญ่ ลำตัวที่ยาวกว่า ขนหยาบและสั้นกว่าของขาวตาทับทิม จนกระทั่งถึงช่วง ปลายทศวรรษปี 1930 หรือราว พ.ศ. 2480-2483 กระต่ายแคระที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในขณะนั้น จึงมีเพียงแค่ 2 ประเภทสีเท่านั้น คือ ขาวตาทับทิม และ ขาวตาฟ้า
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 ถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่าย และในปี ค.ศ. 1969 หรือ พ.ศ. 2512 กระต่ายสายพันธุ์นี้ ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา จนได้รับการยอมรับจากสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Rabbit Breeders Association, Inc. หรือ ARBA) โดยมีการปรับปรุงข้อกำหนดของรายละเอียดมาตรฐานสายพันธุ์จากของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักร (The British Rabbit Council) เพียงนิดหน่อยเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทย เมื่อปลายปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 ได้มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้คุณภาพระดับประกวดจากสหรัฐอเมริกา สำหรับสมาชิกชมรมคนรักกระต่ายแห่งประเทศไทย สีที่นำเข้ามาในขณะนั้น คือสีขาวตาฟ้า สีดำสร้อยทอง (Black Otter) และสีดำสร้อยเงิน (Black Silver Marten) และในปีต่อมา ก็ได้มีการนำเข้า สีต่างๆ ที่แปลกและสวยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สีทองแดง (Siamese Sable) สีควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl) สีฮิมาลายัน (Himalayan) และสีที่หายาก อย่างสีวิเชียรมาศ (Sable Point) หรืออย่าง สีพื้นเช่น สีดำ สีบลู (Blue) สีชอกโกแลต ทำให้ในขณะนี้ ประเทศของเราก็มีกระต่ายสายพันธุ์นี้ในประเภทสีต่างๆ มากมาย ดังที่ได้เห็นกันแล้วตามงานประกวดต่างๆ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้จากประเทศต้นกำเนิดคือ เนเธอร์แลนด์ ความแตกต่างหลักๆของกระต่ายจากสหรัฐอเมริกาและจากเนเธอร์แลนด์ นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพ อันได้แก่ น้ำหนัก หุ่น รูปทรง หัว กะโหลก และลำตัว ระบบเพดดีกรีและการจดทะเบียนของสหรัฐอเมริกาถือได้ว่ามีระบบที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งดีกว่าของกระต่ายทางเนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังไม่มีการจดทะเบียนที่มีระบบ จึงทำให้กระต่ายจากทางสหรัฐอเมริกามีคุณภาพและราคาที่สูงกว่า

ในปัจจุบันสายพันธุ์นี้เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงมากในวงการนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายสวยงาม จนถือได้ว่าเป็น อัญมณีแห่งวงการกระต่ายสวยงาม (Gem of the Fancy Rabbits)

**ลักษณะของสายพันธุ์**
ลักษณะมาตรฐานของสายพันธุ์โดยทั่วไปของสายพันธุ์กระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์
หรือเนเธอร์แลนด์ดวอฟ คือ มีลำตัวสั้น กะทัดรัด ไหล่ สะโพก ความสูง มองดูโดยรวมแล้วสมมาตรกันอย่างสวยงาม หัวมองดูกลม ไม่ว่าจะมองจากมุมใด คอสั้นมากเท่าที่จะเป็นไปได้ หูตั้ง ตรง มีขนเต็ม และมีความแน่น ไม่บางจนเกินไป ตากลม โต สดใส ขนดูแลรักษาง่าย เวลาหวีย้อนแนวขน ขนสามารถกลับมาเป็นทรงเดิมได้

-น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 0.9 กิโลกรัม
-น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.15 กิโลกรัม

**มาตรฐานสายพันธุ์**
รูปร่าง ทรง และลักษณะทั่วไป

-ลำตัว ลำตัวต้องสั้น เล็กกะทัดรัด ไหล่หนา และมีความกว้างเท่ากับความกว้างของสะโพกความกว้างและส่วนสูงจะต้องใกล้เคียงกัน ไหล่โค้งได้รูปรับกับส่วนโค้งของสะโพกที่กลมกลึง ซึ่งทำให้เน้นความสูงของตัวกระต่าย โดยที่ความกว้างและส่วนสูงจะต้องสมดุลกัน

-หัว หัวโต มีขนาดใหญ่สมดุลกันกับลำตัว ตัวผู้จะมีหัวใหญ่กว่าตัวเมีย หัวเป็นทรงกลมเมื่อมองจากทุกทิศทาง ส่วนโค้งของหัวมองดูกลมไม่มีสะดุด หัวตั้งสูงและติดกับไหล่มากที่สุด

-หู หูจะต้องสั้นและตั้งอยู่บนส่วนหัว หูตั้งแต่ไม่จำเป็นต้องชิดติดกัน มีขนเต็มสม่ำเสมอ แสดงถึงความมีเนื้อของส่วนฐานของหู ปลายหูมน ความยาวของหูในอุดมคติคือ 2 นิ้ว ขนาดของหูต้องสมดุลกันกับหัวและลำตัว

-ตา ดวงตาต้องกลม โต สดใส สีของตาต้องตรงตามมาตรฐานของประเภทสีที่ทำการประกวด ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดในเล่มต่อไป เช่น สีบลูหรือสีสวาดหรือสีเทาควันบุหรี่ ต้องมีตาสีเทา เป็นต้น ข้อยกเว้นในกระต่ายสีช็อกโกแล็ต สีไลแลคหรือสีเทากาบบัว และกลุ่มสีเฉด รวมถึงพวกสร้อยเงิน รูม่านตาอาจจะเป็นสีแดงสะท้อนออกมาได้ เรียกว่า Ruby Glow หรือ Ruby Red Reflection ในแสงปกติ ซึ่งกรรมการไม่ควรที่จะมาคำนึงถึงตรงส่วนนี้เวลาประกวด เพราะว่าไม่มีกระต่ายตัวไหนที่จะถูกตัดสิทธิ์หรือถูกหักคะแนนจากการที่มีสีแดงสะท้อนออกมาจากรูม่านตา

-หาง ลักษณะของหางต้องตรง และมีขนเต็ม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการให้คะแนนในส่วนหางของกระต่าย แต่ถ้าหางมีลักษณะที่บกพร่องบ้าง ก็อาจจะถูกหักคะแนนบ้างจากลักษณะประกอบอื่นๆ แต่ถ้าบกพร่องมาก ก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดได้เช่นกัน

-ขน ลักษณะขนต้องเป็นแบบโรลแบ็ค (Rollback) เท่านั้น โรลแบ็ค หมายถึง ลักษณะขนที่เมื่อใช้มือลูบย้อนแนวขน ขนจะค่อยๆ กลับคืนตัวสู่ตำแหน่งเดิม คุณภาพของขนต้องนุ่ม หนาแน่นสม่ำเสมอกัน ขนไม่ตายและเป็นมันเงางาม

-สี ลักษณะของสีขนและสีตาต้องตรงกันตามมาตรฐานของสีนั้นๆ สีเล็บก็ต้องตรงตามมาตรฐานของสีนั้นๆ ด้วย กระต่ายจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด เมื่อปรากฏเล็บขาว ในกระต่ายสี สุดท้ายสีขนชั้นนอกและสีขนชั้นในไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด

**ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์**
ไหล่แคบ ลำตัวยาวและแคบ หัวไหล่หรือสะโพกแคบ ส่วนโค้งหลังแบนราบไม่โค้ง ดังนั้นถ้าความกว้าง ความยาวและส่วนสูง ไม่สัมพันธ์กัน จึงถือว่าเป็นลักษณะที่บกพร่องทั้งสิ้น ลักษณะหัว ที่มีจมูกแหลม บาน หรือแบน ถือเป็นลักษณะที่ไม่ต้องการ หัวใหญ่หรือเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับตัว หัวไม่สมดุลกับตัวและหู หัวขาดความกลมถือเป็นลักษณะที่บกพร่องทั้งสิ้น หูบาง หูงอ หูพับ ขนที่หูไม่สม่ำเสมอ หูแบน หูเป็นรูปตัววีกางมากเกินไป เส้นขนยาวเกินไป ขนบาง ขนไม่หนาแน่น กระต่ายอยู่ในช่วงผลัดขน สีจางไม่เท่ากัน หรือมีสีปะคือมีสีอื่นปรากฏขึ้นมาในที่ที่ไม่ควรเป็น และที่ยอมไม่ได้มากที่สุดคือ ขนปรากฏเป็นแบบฟลายแบ็ค (Flyback) คือเมื่อลูบขนย้อนแนว จะตีกลับสู่ตำแหน่งเดิมในทันที ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้กระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟแตกต่างจากกระต่ายพันธุ์โปลิช

**ลักษณะที่ปรับเป็นโมฆะจากการประกวด**
เมื่อมีเหนียงใต้คอ กระต่ายที่มีหูยาวเกิน 2 นิ้วครึ่ง เมื่อกระต่ายประกวดในกลุ่มสีใดๆ ถ้าหากปรากฏว่ามีขนแซมสีขาวขึ้นมา หรือกระต่ายสีขาว หรือกลุ่มสีฮิมาลายัน แต่ขนสีอื่นปรากฏแซมขึ้นมา จะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดการจัดท่าทาง เวลาประกวดกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ จะจัดระเบียบร่างกายให้เป็นไปตามธรรมชาติของสายพันธุ์นี้ที่สุด คือ ไม่ควรยืดลำตัวให้ยาวออก หรือดันมาให้ติดกัน ไม่ควรจัดท่าให้กระต่ายอยู่ในท่ายืนถ่ายน้ำหนักไปที่ขาหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความสูง และความสมดุลของตัวกระต่ายจะหายไป ทำให้ตัวกระต่ายไม่แลดูสั้นและกะทัดรัด การจัดระเบียบร่างกายที่ดีคือ ต้องแสดงถึงความสมดุลกันทั้งความกว้าง ความยาวและส่วนสูง ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดของกระต่ายแคระ


**กลุ่มสีที่ตรงตามมาตรฐาน**
กระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟเป็นกระต่ายที่จัดได้ว่า มีสีให้เลือกได้มากมายมากที่สุดในบรรดากระต่ายสายพันธุ์ต่างๆทั้งหมดที่มี คือสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มสี และมีสีหรือลักษณะสีย่อยๆ อีกกว่า 24 สี สีตามมาตรฐานที่สมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ARBA กำหนดให้มีการประกวดในกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ มีกลุ่มสีถึง 5 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มสีพื้น (Self Varieties) กลุ่มสีเฉด (Shaded Varieties) กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Varieties) กลุ่มแทนหรือกลุ่มมีสร้อย (Tan Varieties) และกลุ่มสีอื่นๆ Any Other Varieties)

-กลุ่มสีพื้น (Self Varieties) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนสีเดียวเหมือนกันตลอดทั้งตัว ประกอบด้วย 5 สี 6 ประเภท ได้แก่
สีดำ
สีบลู (Blue)-เป็นสีเทาเข้ม (สีเรือรบ) เหมือนสีของแมวสีสวาด
สีช็อกโกแล็ต
สีไลแลค (Lilac)
สีขาวตาฟ้า (Blue Eyed White) และ
ขาวตาทับทิม (Ruby Eyed White)

-กลุ่มสีเฉด (Shaded Varieties) คือกลุ่มสีขนที่มีความเข้มของสีเดียวกันในแต่ละตำแหน่งของตัวไม่เท่ากัน ตำแหน่งที่มีความเข้มของสีแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ จมูกและขาทั้งสี่ จะมีสีที่เข้มกว่า ส่วนอื่นๆของตัว ประกอบด้วย 4 สี ได้แก่
สีซาเบิ้ลพอยท์ (Sable Point)-เป็นสีครีมทั้งตัว มีแต้มสีน้ำตาลเข้ม เหมือนสีของแมววิเชียรมาศ
สีซาเบิล (Siamese Sable)-เป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม เหมือนสีของสุนัขไทยสีทองแดง
สีเทาควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl)-เป็นสีเทาควันบุหรี่
สีกระ (Tortoise Shell)-เป็นสีกระ เหมือนสีของกระดองเต่ากระ พื้นขนออกสีน้ำตาล แต่มีแต้มที่จมูกและขาเป็นสีน้ำตาลที่เข้มกว่า

-กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Varieties) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนมากกว่าหนึ่งสีในขนเส้นเดียวกัน เมื่อสังเกตอย่างใกล้ชิดจะเห็นขนถูกแบ่งเป็นสามแถบอย่างชัดเจน ประกอบด้วย 5 สี ได้แก่
สีเชสนัท (Chestnut)-เป็นสีน้ำตาลเชสนัท แซมดำที่ปลายขนเหมือนสีกระต่ายป่า
สีชินชิลล่า (Chinchilla)-เป็นสีเทาแซมดำที่ปลายขนเหมือนสีตัวชินชิลล่า
สีลิงซ์ (Lynx)-เป็นสีส้มแซมสีเทาเงิน
สีโอปอล (Opal)-เป็นสีฟางข้าว ขนชั้นในเป็นสีบลู
สีกระรอก (Squirrel)-เป็นสีเทา แซมบลู หรือเทาเข้มที่ปลายขน เหมือนสีของกระรอก

-กลุ่มแทนหรือกลุ่มมีสร้อย (Tan Varieties) แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต หรือสีไลแลค และอีกกลุ่มคือประเภทที่มีสีทองแดงและสีเทาควันบุหรี่ แต่ที่สำคัญคือ สำหรับสีทุกประเภทจะต้องมีสร้อยหรือเป็นแถบขนสีขาวหรือสีที่กำหนดพาดที่คอ แลดูเหมือนกับสร้อย และผ้าพาดคอพาดอยู่
กลุ่มสร้อยทอง (Otter)-เป็นประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต หรือสีไลแลค ที่บริเวณหัว หูส่วนนอก หลังเท้าหน้า ส่วนนอกของขาหลัง และส่วนหลังและลำตัวด้านข้าง แต่จะมีมาร์กกิ้งที่คอ (ส่วนกราม) หลังคอเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนท้อง จมูกส่วนล่าง รอบดวงตา หางส่วนล่าง หูส่วนใน และส่วนในของขาหน้าและขาหลัง จะเป็นสีครีม แต่มีสีส้มแซมเป็นมาร์กกิ้งในกระต่ายสีพื้นดำหรือช็อกโกแล็ต หรือมีสีฟางข้าวแซมเป็นมาร์กกิ้งในกระต่ายสีพื้นบลูและไลแลค ทำให้แลดูเหมือนเป็นสร้อยทองคล้องอยู่
กลุ่มสร้อยเงิน (Silver Marten)-เป็นประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้เหมือนกับของกลุ่มสร้อยทอง แต่จะมีมาร์กกิ้งที่คอ (ส่วนกราม) หลังคอเป็นรูป
สามเหลี่ยม ส่วนท้อง จมูกส่วนล่าง รอบดวงตา หางส่วนล่าง หูส่วนใน และส่วนในของขาหน้าและขาหลัง จะเป็นสีเทาเงิน ทำให้แลดูราวกับว่ามีสร้อยเงินคล้องอยู่
กลุ่มสร้อยนาค (Tans)-เป็นประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้เหมือนกับของกลุ่มสร้อยทองและสร้อยเงิน แต่จะมีมาร์กกิ้งที่คอ (ส่วนกราม) หลังคอเป็นรูป สามเหลื่ยม ส่วนท้อง จมูกส่วนล่าง รอบดวงตา หางส่วนล่าง หูส่วนใน และส่วนในของขาหน้าและขาหลัง จะเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม คล้ายสีนาค ทำให้เหมือนมีสร้อยนาคอยู่
สีทองแดงสร้อยเงิน (Sable Marten)-เป็นสีทองแดง แต่มีมาร์กกิ้งต่างๆ คล้ายกับของกลุ่มสร้อยเงิน
สีเทาควันบุหรี่สร้อยเงิน (Smoke Pearl Marten)-เป็นสีเทาควันบุหรี่ แต่มีมาร์กกิ้งต่างๆ คล้ายกับของกลุ่มสร้อยเงิน
หมายเหตุ ลำดับที่ใช้ในการอธิบายอาจจะแตกต่างไปจากลำดับที่ใช้ในการประกวดคือ Otter – Sable Marten – Silver Marten – Smoke Pearl Marten – Tans ทั้งนี้เพื่อความง่ายต่อการอธิบายและความเข้าใจ

-กลุ่มสีอื่นๆ (Any Other Varieties) คือกลุ่มสีที่ไม่สามารถจัดให้เข้าอยู่กับกลุ่มสีอื่นๆ ข้างต้นได้ เป็นกลุ่มสีที่มีลักษณะเฉพาะตัว มี 4 สีด้วยกัน ได้แก่
สีฟางข้าว (Fawn)
กลุ่มหิมาลายัน (Himalayan)-กลุ่มที่มีสีขนพื้นลำตัวเป็นสีขาว แต่มีแต้มที่ จมูก หูทั้งสอง ขาทั้งสี่ และหาง โดยจะต้องมีสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต และสีไลแลค แต่ที่สำคัญคือ จะต้องมีตาสีทับทิม
สีส้ม (Orange) และ
สีสนิมเหล็ก (Steel)-มีสีดำทั้งตัว และมีปลายขนเป็นสีน้ำตาล
เนื่องจากคะแนนที่ให้สำหรับสีมีมากถึง 15 คะแนน หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะของสีขนและสีตาจึงต้องตรงกันตามมาตรฐานของสีนั้นๆ นอกจากนี้ สีเล็บก็ยังต้องตรงตามมาตรฐานของสีนั้นๆ อีกด้วย กระต่ายจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด โดยเฉพาะเมื่อปรากฏเล็บขาวในกระต่ายสี สุดท้ายสีขนชั้นนอกและสีขนชั้นในไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ถือว่าเป็นลักษณะที่บกพร่องและถูกหักคะแนนได้
ลักษณะที่ปรับเป็นโมฆะหรือจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด คือเมื่อกระต่ายประกวดในกลุ่มสีใดๆ ถ้าหากปรากฏว่ามีขนแซมสีขาวขึ้นมาอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน หรือมีจำนวนมากเกินไป หรือกระต่ายสีขาวหรือกลุ่มสีหิมาลายันแต่มีขนสีอื่นปรากฏแซมขึ้นมา เราจะถือว่ากระต่ายตัวนั้นมีลักษณะที่ต้องถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้ยังไม่ได้กำหนดให้มีมาตรฐานของกระต่ายที่มีลายหรือเป็นสีขาวจุด หรือสีขาวปะ เพราะฉะนั้น กระต่ายที่มีลายทั้งหมด (หรือเรียกว่า Broken) หรือกระต่ายที่เป็นลายหน้ากาก (หรือ Dutch mark) ก็ถือว่าไม่ตรงตามมาตรฐานสำหรับการประกวดของ ARBA ดังนั้นการเลือกซื้อกระต่ายสายพันธุ์นี้ ให้ถูกต้องตามสีมาตรฐาน และเพื่อใช้ประกวด จะต้องจำไว้ว่า สีจะต้องตรงตามสีหรือกลุ่มสีทั้ง 24 นี้เท่านั้น แต่ถ้าเลี้ยงเล่นๆ ก็ไม่ว่ากัน
ลักษณะอย่างไรเรื่องว่าสวย
ภาพวาดร่างวาดโดย คุณธีโอ แจนเซ่น นักพัฒนาพันธุ์กระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟที่มีชื่อเสียง ชาวเนเธอร์แลนด์ จากภาพอธิบายได้ว่า ลักษณะของกระต่ายสายพันธุ์นี้ ที่สวยงามระดับประกวด จะต้องมองดูจากด้านข้างแล้ว เหมือนวงกลมสามวง คือที่หัว ตัวและสะโพก ที่จะต้องมีขนาดที่สมดุลกันทั้งหมด หรืออาจจะมองได้ว่ามี สี่เหลี่ยมผืนผ้า 6 ส่วนดังรูป


**หนังสืออ้างอิง**
The American Netherland Dwarf Rabbit Club, 1996. Netherland Dwarf Official Guide Book (Six Edition).
The American Rabbit Breeders Association, Inc., 2001. Standard of Perfection: Standard Bred Rabbits and Cavies 2001 thru 2005.


>>>""Holland Lop""
**ประวัติความเป็นมา**
นักพัฒนาพันธุ์กระต่ายชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ นายแอนเดรียน เดอคอก ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักพัฒนากระต่ายสายพันธุ์แทน แต่กลับมีความชื่นชอบกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟและสายพันธุ์เฟรนช์ลอปเป็นพิเศษ มีความคิดที่จะผสมกระต่ายให้ได้กระต่ายหูตกที่มีขนาดเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1949 หรือ พ.ศ. 2492 เขาได้ผสมกระต่ายเฟรนช์ลอปเพศผู้กับกระต่ายขาวเนเธอร์แลนด์ดวอฟเพศเมีย โดยหวังว่าจะได้กระต่ายหูตกที่ตัวเล็กลง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการผสมข้ามพันธุ์ในครั้งนั้น สองปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 1951 หรือ พ.ศ. 2494 เขาลองผสมกระต่ายเฟรนช์ลอปเพศเมียกับกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟเพศผู้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะผสมกระต่ายต่างสายพันธุ์ที่มีขนาดที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ แต่เขาก็ประสบความสำเร็จ จากความพยายามผสมในครั้งที่ 3 จนกระทั่งได้ลูกกระต่ายออกมาทั้งหมดหกตัว ทุกตัวมีหูตั้งและชิดกัน อันเกิดจากลักษณะเด่นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ซึ่งข่มทับอย่างสมบูรณ์ ในปีถัดมา เขานำลูกกระต่ายเพศเมียเหล่านั้นไปผสมกับกระต่ายอิงลิชลอปเพศผู้สีฟางข้าว ได้ลูกกระต่ายออกมาห้าตัว ตัวเมียหนึ่งตัวในครอกนี้หูตก สองตัวหูตั้ง ที่เหลือ หูตกข้างตั้งข้าง ด้วยความที่ฝืนธรรมชาติกระต่ายเพศเมียที่ได้ทุกตัวจากการทดลองผสมข้ามสายพันธุ์ ไม่สามารถผสมติดให้ลูกเลย กระนั้นเขาก็ไม่ได้ละความพยายาม เขาได้ทดลองเอาพี่น้องต่างครอกผสมกัน ผลปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ จำนวนลูกหูตกที่ได้มากขึ้นและก็มีขนาดที่เล็กลงด้วย จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1955 หรือ พ.ศ. 2598 ความพยายามของเขาก็เป็นผลสำเร็จ กระต่ายต้นแบบฮอลแลนด์ลอปได้ถือกำเนิดมาที่น้ำหนักประมาณ 2.5 ถึง 3 กิโลกรัม ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1964 หรือ พ.ศ. 2507 กระต่ายแคระหูตกฮอลแลนด์ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานสายพันธุ์จากสภากระต่ายแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าสองกิโลกรัม

กระต่ายแคระหูตกฮอลแลนด์ของแอนเดรียน ได้นำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1976 หรือ พ.ศ. 2519 และได้มีการเสนอให้มีการยอมรับสายพันธุ์นี้ต่อสมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายของสหรัฐอเมริกา ที่งานประกวดกระต่ายสวยงาม ณ ทักสัน ในปี ค.ศ. 1980 หรือ พ.ศ. 2523

**ลักษณะของสายพันธุ์**
ถ้าจะกล่าวถึงกระต่ายที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นกระต่ายหูตกนั่นเองอันเนื่องมาจากลักษณะที่โดดเด่นในตัวของกระต่ายเองคือมีหูตกอยู่ที่ข้างแก้มซึ่งจัดว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างจากกระต่ายปกติที่เราคุ้นเคยคือต้องมีหูตั้งแต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้กระต่ายสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงในหมู่คนเลี้ยงกระต่าย แต่เป็นเพราะเนื่องจากกระต่ายพันธุ์นี้เป็นกระต่ายที่มีความเชื่องมากที่สุดพันธุ์หนึ่งหุ่นที่แข็งแรงบึกบึน*หูตก*ขนสั้น สามารถจดจำชื่อของตัวเองได้และยังรู้จักเจ้าของอีกนอกจากนี้ลักษณะภายนอกที่เห็นเด่นชัดก็ไปมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับสุนัขพันธุ์คอกเกอร์สแปเนี่ยลที่มีหูตกห้อยอยู่ข้างแก้มด้วยคุณลักษณะทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เราจึงสามารถกล่าวได้ว่ากระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปนี้เป็นกระต่ายในดวงใจของผู้นิยมเลี้ยงกระต่ายหลายๆท่าน รวมทั้งในต่างประเทศด้วยอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกากระต่ายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นอย่างมากจนถึงกับมีการตั้งมอตโต้ของกระต่ายสายพันธุ์นี้ ว่าเป็น ฮอลมาร์กบรีด (The Hallmark Breed) หรือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เป็นตราเครื่องหมายของกระต่ายเลยทีเดียว
กระต่ายสายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปจัดว่าเป็นกระต่ายกลุ่มหูตกที่มีขนาดเล็กที่สุดเพราะว่าเมื่อดูจากประวัติของสายพันธุ์ก็มาจากกระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์ดวอฟกระต่ายสายพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่หัวกลมโตแลดูน่ารักเหมือนตุ๊กตา มีน้ำหนักน้อยและลำตัวสั้นซึ่งแตกต่างจากกระต่ายโดยทั่วไปจึงทำให้เป็นกระต่ายที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในขณะนี้ การที่มีขนาดลำตัวที่สั้นไหล่ที่กว้างหนาและมีความสูงสมดุลกันทั้งตัวทำให้แลดูเหมือนก้อนกลมๆหูที่สั้นไม่ยาวมาก ทำให้แลดูน่ารัก โดยปกติ หูยิ่งสั้น ยิ่งดี เพราะว่าจะแสดงถึงลักษณะของกระต่ายแคระ
ในเพศผู้จะมีขนาดลำตัวและหัวที่ใหญ่กว่ากล้ามเนื้อเด่นชัดกว่าในเพศเมียจะแสดงออกถึงลักษณะของเพศเมียมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็จะแสดงถึงลักษณะของสายพันธุ์ที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว
สำหรับชื่อที่ใช้เรียกกระต่ายสายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป ในแต่ละประเทศก็จะเรียกแตกต่างกันไป อันอาจจะก่อให้เกิดความสับสนได้โดยง่าย เช่น ในประเทศอังกฤษ (The British Rabbit Council) จะเรียกฮอลแลนด์ลอป ว่าเป็น มินิลอป แต่กลับเรียกมินิลอปเป็น ดวอฟลอป
สำหรับในประเทศไทยไม่ได้เกิดจากการเรียกชื่อที่ผิดแต่เนื่องจากผู้เลี้ยงกระต่ายในเมืองไทยยังคงมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานสายพันธุ์ของกระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปนี้อย่างผิดๆโดยเข้าใจว่ากระต่ายหูตกลูกผสมที่มีลักษณะคล้ายกับกระต่ายพันธุ์มินิลอปแต่ขนกระด้างเหมือนกระต่ายไทยทั่วไปคือฮอลแลนด์ลอปสายพันธุ์แท้ทั้งๆที่กระต่ายสองสายพันธุ์นี้มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือกระต่ายฮอลแลนด์ลอปจะมีหัวที่กลมกว่ามินิลอป น้ำหนักตัวที่น้อยกว่ามากคือ 1.6-1.8 กิโลกรัม ในขณะที่มินิลอปจะหนักกว่ามาก คือ กว่าสองกิโลกรัม (2.5-2.7 กิโลกรัม) เมื่อโตเต็มที่ หน้าและความยาวของหู สัดส่วนระหว่างหัวกับตัวซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน (ดังรูป) แต่ที่สำคัญและแตกต่างที่สุด ก็คือเรื่องของขน กระต่ายฮอลแลนด์ลอปสายพันธุ์แท้จะมีขนที่นุ่มลื่นเป็นเอกลักษณ์
**มาตรฐานสายพันธุ์**
สายพันธุ์กระต่ายฮอลแลนด์ลอปในอุดมคติที่เราจะจัดว่าสวยตรงตามมาตรฐานของสายพันธุ์ จะต้องมีหัวที่กลมโต กล้ามเนื้อหนาแน่น ลำตัวสั้น กะทัดรัด และสมมาตรทั้งความยาว ความกว้างและความสูง สัดส่วนของลำตัวและหัว ควรจะเป็น 3:1 ไหล่และอกกว้าง หนาและเต็ม เช่นเดียวกันกับสะโพก หัวที่โตต่อติดกับหัวไหล่ เหมือนไม่มีคอ ขาสั้น หนา ตรงและกระดูกใหญ่ หูทั้งสองข้างต้องตกแนบแก้ม เมื่อมองจากด้านหน้าตรง จะดูเหมือนเป็นรูปเกือกม้า หูต้องหนาและมีขนขึ้นเต็ม หูยาวเลยจากคางไปไม่เกิน 1 นิ้ว ความยาวของหูต้องสัมพันธ์กับหัวและตัว
น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 1.6 กิโลกรัม (สำหรับตัวผู้) และ 1.7 กิโลกรัม (ในตัวเมีย) แต่น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.8 กิโลกรัม
**ลักษณะที่จะถูกหักคะแนนจากการประกวด**
ลำตัวยาวและแคบ ความกว้างและความสูงไม่สัมพันธ์กัน สันหลังโค้งผิดรูป ไหล่แคบหรือกว้างเกินไปไม่สมดุลกับลำตัวโดยรวม ไหล่อยู่ต่ำมาก สะโพกแคบ แบน ผอม มีกระดูก หัวยาวหรือแคบ หัวไม่สมดุลกับลำตัว เนื้อหูบาง หูไม่สมดุลกันกับลำตัว
**กลุ่มสีที่ตรงตามมาตรฐาน**
กระต่ายฮอลแลนด์ลอปมีสีมากมายหลากหลายสี จนสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้มากถึง 7 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มอะกูติ (Agouti) กลุ่มสีขาวแต้ม (Broken) กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม (Pointed White) กลุ่มสีพื้น (Self) กลุ่มสีเฉด (Shaded) กลุ่มสีพิเศษ (Ticked) และกลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band) หรือเราอาจจะกล่าวง่ายๆ ว่ามีสีต่างๆ ที่รับรองโดย ARBA แล้ว ดังต่อไปนี้ คือ
-กลุ่มอะกูติ : สีเชสนัทอะกูติ สีช็อกโกแล็ตอะกูติ สีชินชิลล่า สีช็อกโกแล็ตชินชิลล่า สีลิงซ์ สีโอปอล สีกระรอก (Squirrel)
-กลุ่มสีขาวแต้ม : สีขาวแต้ม คือสีขาว แต่มีสีแต้มเป็นสีอะไรก็ได้ ที่ได้รับการรับรอง รวมถึงสีไตรคัลเลอร์ หรือสามสี (มีสีขาว น้ำตาล และดำ)
-กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม : โดยที่มาร์กกิ้งต้องมีสีกลุ่มสีพื้น (สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค)
-กลุ่มสีพื้น : สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค สีขาวตาแดง และสีขาวตาฟ้า
-กลุ่มสีเฉด : สีวิเชียรมาศ สีทองแดง สีซีล สีเทาควันบุหรี่ และสีกระ
-กลุ่มสีพิเศษปลายขนสีน้ำตาล : ตอนนี้มีอยู่สีเดียวคือ สีสตีล หรือสีสนิมเหล็ก
-กลุ่มสีอื่นๆ : สีครีม สีฟางข้าว สีฟร้อสตี้ (เทาควันบุหรี่อ่อนๆ) สีส้ม และสีแดง
ในขณะนี้ได้มีสีอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับการรับรองเมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา คือ กลุ่มสร้อยทอง หรือ ออตเตอร์ สีทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสีมาตรฐานของสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Rabbit Breeders Association, Inc.) แต่ของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักร (The British Rabbit Council) ก็จะมีสีน้อยกว่านี้ แต่จะมีสีแปลกๆเพิ่มขึ้นมาแทน เช่น กลุ่มสีสร้อยเงิน เช่น สีเทาควันบุหรี่สร้อยเงินและสีทองแดงสร้อยเงิน เป็นต้น



>>>”””American Fuzzy Lop”””
**ประวัติความเป็นมา**
ต้นกำเนิดของอเมริกันฟัซซี่ลอปมาจากการผ่าเหล่าของฮอลแลนด์ลอป หรืออีกกระแสหนึ่งเล่าว่า กระต่ายสายพันธุ์นี้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างฮอลแลนด์ลอปที่ลักษณะขนเป็นแบบอังโกร่าในกลุ่มนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายทางฝากตะวันตกของสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ถูกขายไปยังฝั่งตะวันออก ลูกที่เกิดมาก็ยังมีขนที่ยาวเหมือนอังโกร่า เมื่อผสมลูกเหล่านี้ รุ่นหลานก็ยังปรากฏเป็นกระต่ายหูตกขนยาวอยู่ตลอดมา สายพันธุ์อเมริกันฟัซซี่ลอปถูกเสนอให้มีการยอมรับสายพันธุ์ต่อสมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายของสหรัฐอเมริกา ในงานประกวดกระต่ายสวยงาม ณ เมดิสัน รัฐวิสเคาส์ซิน ในปี ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 โดยเพตตี้กรีน คาร์ล

**ลักษณะของสายพันธุ์**
กระต่ายพันธุ์อเมริกันฟัซซี่ลอป (American Fuzzy Lop) เป็นกระต่ายขนาดเล็ก (Compact Type) จัดอยู่ในกลุ่มกระต่ายแคระ มีลักษณะเด่นคือ มีหูตกสวยงามและมีขนที่ยาวสลวย ลักษณะเด่นอื่นๆของสายพันธุ์กระต่ายหูตกอเมริกันฟัซซี่ลอป ก็คือ มีลำตัวสั้น กะทัดรัด หัวมีลักษณะกลม ขนาดใหญ่หนาและกว้างจากฐานของหูทั้งสองข้าง หูที่หนา และแบน หูยิ่งสั้นยิ่งถือว่ามีลักษณะที่ดี เพราะว่าเป็นการแสดงถึงลักษณะของกระต่ายแคระ หูจะต้องตกแนบข้างแก้ม หัวโตใหญ่ ต่อติดกับหัวไหล่ เหมือนไม่มีคอ หัวและหูปกคลุมด้วยขนธรรมดา ที่ไม่ใช่ขนยาว ขนที่หน้าสามารถตัดแต่งได้ตามความเหมาะสมและสวยงาม ขาหลังมีขนธรรมดา ฝ่าเท้าหนาและหนัก ขนที่ตัวหนาแน่นเสมอกันตลอดทั้งตัว ขนควรมีลักษณะค่อนข้างหยาบและมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว
เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้มีน้ำหนักและลำตัวยาวไม่มากเหมือนกระต่ายทั่วไป จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงอยู่ในขณะนี้ การที่มีขนาดลำตัวที่สั้น ไหล่ที่กว้างหนา และมีความสูงสมดุลกันทั้งตัว ทำให้ดูเหมือนเป็นก้อนฟูฟูกลมๆก้อนหนึ่ง เนื่องจากขนที่มีสองลักษณะคือ ขนชั้นในที่นุ่มฟูและมีขนาดสั้นกว่า ขนชั้นนอกที่มีความยาวและแลดูหยาบกว่าขนชั้นใน ทำให้ดูเหมือนอเมริกันฟัซซี่ลอปมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง ในเพศผู้ จะมีขนาดลำตัวและหัวที่ใหญ่กว่า กล้ามเนื้อเด่นชัด ในเพศเมียจะแสดงออกถึงลักษณะของเพศเมียมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็จะแสดงถึงลักษณะของสายพันธุ์ที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว
น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 1.6 กิโลกรัม (สำหรับตัวผู้) และ 1.7 กิโลกรัม (ในตัวเมีย)
น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.8 กิโลกรัม
**มาตรฐานสายพันธุ์**
สัดส่วนและขนาด
• น้ำหนักในเพศผู้ (พ่อพันธุ์) อายุตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป ไม่เกิน 4 ปอนด์ (1.8 กิโลกรัม) โดยมีน้ำหนักในอุดมคติคือ ไม่เกิน 3 ? ปอนด์ (1.6 กิโลกรัม)
• น้ำหนักในเพศเมีย (แม่พันธุ์) อายุตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป ไม่เกิน 4 ปอนด์ (1.8 กิโลกรัม) โดยมีน้ำหนักในอุดมคติคือ ไม่เกิน 3 ? ปอนด์ (1.7 กิโลกรัม)
• น้ำหนักกระต่ายรุ่น อายุไม่เกินหกเดือน น้ำหนักต้องไม่เกิน 3 ? ปอนด์ (1.6 กิโลกรัม) โดยมีน้ำหนักที่น้อยที่สุดสำหรับประกวด ไม่น้อยกว่า 1 ? ปอนด์ (8 ขีด)
ศีรษะ
มองจากหน้าตรง หัวมีความกว้าง หน้าผากโหนกลงมาถึงระหว่างตาทั้งสองข้าง ทำให้แลดูหัวเต็ม มองจากด้านข้าง หัวจะสั้นและหนา หัวกลม หน้าตัด หัวใหญ่ สังเกตเห็นได้ชัดเจน ขนาดของหัวต้องสัมพันธ์กันกับลำตัว ขนข้างแก้มสามารถตัดแต่งได้เพื่อความสวยงาม
ลักษณะที่ไม่เป็นที่พิจารณา หน้ายาว หัวแคบเล็ก ระหว่างตาแคบ หัวเล็กไม่สัมพันธ์กับลำตัว ขนข้างแก้มถูกตัดมากเกินไป


**กลุ่มสีที่ตรงตามมาตรฐาน**
สีตามมาตรฐานที่สมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ARBA กำหนดให้มีการประกวดในกระต่ายสายพันธุ์อเมริกันฟัซซี่ลอป มีกลุ่มสีถึง 6 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มสีพื้น (Self Group) กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Group) กลุ่มสีเฉด (Shaded Group) กลุ่มสีขาวมีแปดแต้ม (Pointed White Group) กลุ่มขาวลายแต้มสีต่างๆ (Broken Group) และกลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band Group)
-กลุ่มสีพื้น (Self Group) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนสีเดียวเหมือนกันตลอดทั้งตัว ประกอบด้วย 6 สี ได้แก่
• สีดำ
• สีบลู (Blue)-เป็นสีเทาเข้ม (สีเรือรบ) เหมือนสีของแมวสีสวาด
• สีขาวตาฟ้า (Blue Eyed White)
• สีช็อกโกแล็ต
• สีไลแลค (Lilac) และ
• ขาวตาทับทิม (Ruby Eyed White)
-กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Group) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนมากกว่าหนึ่งสีในขนเส้นเดียวกัน ประกอบด้วย 5 สี ได้แก่
• สีเชสนัท (Chestnut)-เป็นสีน้ำตาลเชสนัท แซมดำที่ปลายขนเหมือนสีกระต่ายป่า
• สีชินชิลล่า (Chinchilla)-เป็นสีเทาแซมดำที่ปลายขนเหมือนสีตัวชินชิลล่า
• สีลิงซ์ (Lynx)-เป็นสีส้มแซมสีเทาเงิน
• สีโอปอล (Opal)-เป็นสีฟางข้าว ขนชั้นในเป็นสีบลู
• สีกระรอก (Squirrel)-เป็นสีเทา แซมบลู หรือเทาเข้มที่ปลายขน เหมือนสีของกระรอก
-กลุ่มสีเฉด (Shaded Group) คือกลุ่มสีขนที่มีความเข้มของสีเดียวกันในแต่ละตำแหน่งของตัวไม่เท่ากัน ตำแหน่งที่มีความเข้มของสีแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ จมูกและขาทั้งสี่ จะมีสีที่เข้มกว่า ส่วนอื่นๆของตัว ประกอบด้วย 4 สี ได้แก่
• สีซาเบิล (Siamese Sable)-เป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม เหมือนสีของสุนัขไทยสีทองแดง
• สีเทาควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl)-เป็นสีเทาควันบุหรี่
• สีซาเบิ้ลพอยท์ (Sable Point)-เป็นสีครีมทั้งตัว มีแต้มสีน้ำตาลเข้ม เหมือนสีของแมววิเชียรมาศ
• สีกระ (Tortoise Shell)-เป็นสีกระ เหมือนสีของกระดองเต่ากระ พื้นขนออกสีน้ำตาล แต่มีแต้มที่จมูกและขาเป็นสีน้ำตาลที่เข้มกว่า
-กลุ่มสีขาวมีแปดแต้ม (Pointed White Group) คือกลุ่มที่มีสีขนพื้นลำตัวเป็นสีขาว แต่มีแต้มที่ จมูก หูทั้งสอง ขาทั้งสี่ และหาง โดยจะต้องมีสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค (Lilac) และที่สำคัญคือ จะต้องมีตาสีทับทิม
-กลุ่มขาวลายแต้มสีต่างๆ (Broken Group) คือกลุ่มที่มีสีขนพื้นลำตัวเป็นสีขาว และมีแต้ม หรือลายจุด กระจัดกระจายทั่วไปตามลำตัว แต่ต้องมีแต้มบังคับที่ ข้างจมูกและขอบตา ทั้งสองข้าง และต้องมีสีแต้มไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของลำตัวทั้งหมด
-กลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band Group) คือกลุ่มสีที่ไม่สามารถจัดให้เข้าอยู่กับกลุ่มสีอื่นๆ ข้างต้นได้ เป็นกลุ่มสีที่มีลักษณะเฉพาะตัว มี 2 สี ได้แก่ สีส้ม (Orange) สีฟางข้าว (Fawn)


**หนังสืออ้างอิง**
The American Rabbit Breeders Association, Inc., 2000. Raising Better Rabbits & Cavies (Official Guide Book).
The American Rabbit Breeders Association, Inc., 2001. Standard of Perfection: Standard Bred Rabbits and Cavies 2001 thru 2005.
The British Rabbit Council. The First Ever Breed Standards Book.
The Holland Lop Rabbit Specialty Club. Holland Lop Rabbit Specialty Club Official Guidebook. Fifth Edition 2002.

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

พืชที่เป็นอันตรายต่อกระต่าย

1. ว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้ ที่ว่ากันว่า สมานแผลดีนักเชียว แต่เพื่อนๆ รู้หรือเปล่า ว่าเจ้าเนี่ย ตัวอันตรายเชียวหละ ต้องระวังอย่าให้กระต่ายไปแทะเข้าเชียว ยางจะทำให้จะเข้าไปกัดช่องปาก และ คันในทางเดินอาหาร ถ้าส่งแพทย์ทัน แพทย์จะล้างท้องโดยเอาท่อเข้าไป แต่ว่าก็มีโอกาสตายสูง

2. สาวน้อยประแป้ง ต้นไม้นี้คุ้นหูคุ้นตา และเชื่อว่าบ้านของเพื่อนๆ หลายๆคนอาจจะมี แต่รู้หรือไม่ ว่าเป็นพิษนะคะ ห้ามให้กระต่ายกินเด็ดขาด จะทำให้ช่วงปาก ทางเดินอาหารระคายเคือง ร้อนไหม้ เพราะว่า มีผลึก แคลเซี่ยม ออกซาเลต ซึ่งจะเป็นรูปเข็ม และทิ่มตำ ระคายเคืองทางเดินอาหาร ที่สำคัญ พืชที่มีผลึก แคลเซี่ยม ออกซาเลตนี้ การล้างท้องโดยใช้ท่อมักไม่กำจัดส่วนเป็นพิษนี้ออกได้ นับว่า อันตรายมากๆ

3. ต้นปรง ต้นปรงเริ่มเริ่มปลูกกันมากขึ้นค่ะ เป็นไม้ต้นไม่สูง อันนี้มีพิษค่ะ ตรงยอดและเม็ดปรง มีพิษรุนแรง ทำให้ชัก และตาย

4. ผักบุ้ง ผักบุ้งชนิดนี้ จะพบได้ตามทุ่งทั่วไป แบบที่ชอบแถมมาเวลาซื้อส้มตำนั่นแหละ ไม่เหมือนกับผักบุ้งที่ใส่ใน เย็นตาโฟนะ คนละแบบ สังเกตง่ายๆ ผักบุ้งแบบนี้จะมีก้านสีออกน้ำตาล ไม่แนะนำให้เอามาให้กระต่ายกินค่ะ เพราะยางเยอะ

5. ต้นบอน ต้นไม้นี้ หลังๆ เป็นที่นิยมมากในการจัดสวน แต่ว่า เพื่อนๆ รู้หรือไม่ ว่าต้นไม้นี้มียางเป็นพิษค่ะ ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุปากและลำคอ ควรจะหลีกเลี่ยงไว้ให้ดี อย่าให้กระต่ายไปแทะเข้าเชียว

6. ต้นพลูฉีก ต้นไม้นี้ มีพิษประเภทเดียวกันกับบอนค่ะ ต้นไม้นี้มียางเป็นพิษทำให้ระคายเคืองเยื่อบุปากและลำคอ

7. ต้นโป๊ยเซียน ต้นไม้นี้ ก่อให้เกิดการระคายเคือง ต่อผิวหนัง และบริเวณที่ไปสัมผัส ดังนั้นห้ามปล่อยให้กระต่ายไปแทะ กินนะคะ

8. พลับพลึง ตรงส่วนของเหง้าพลับพลึงจะเป็นพิษค่ะ การระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ต้องระวังเช่นกัน

9. แพงพวย เป็นพืชมีพิษค่ะ มีอยู่ทั่วไปในบ้านพวกเรา แทบจะเป็นวัชพืชเลยทีเดียว ที่สำคัญไปค้นพบ ว่าแพงพวยนี้มีชื่อติดอยู่ใน ต้นไม้มีพิษในเว็บต่างประเทศซะด้วย แต่แปลกที่คนไทยเองไม่ค่อยมีใครรู้เลย

10. มันสำปะหลังดิบ อันนี้คงไม่มีสวนบ้านใครปลูก แต่ไหนๆพูดถึงพืชมีพิษแล้ว ก็ขอแอบพูดถึงด้วยเลยแล้วกันนะ มันสำปะหลังดิบ มีสารประเถทไซยาไนต์นะคะ ห้ามให้กินดิบๆค่ะ

11. มันแกว หลายๆคนอาจจะเถียงในใจว่า ไม่เป็นพิษ ก็ฉันนี่หละ กินประจำ จริงๆแล้ว ส่วนที่เรากินเนี่ย คือหัวของมันแถว ที่ขุดมาจากใต้พื้นดิน แต่ว่าส่วนเป็นพิษคือ ใบ และเม็ดของมันต่างหากที่เป็นพิษ มันจะทำให้ระบบหายใจทำงานล้มเหลวและตายค่ะ ทางที่ดี เลี่ยงมันแกวไปเลยดีกว่า

หวังว่าจะมีประโยชน์แก่เพื่อนๆ นะคะ ยังมีพืชอีกมากมายที่ไม่ได้พูดถึง ซึ่งเป็นพิษกับกระต่าย ทางที่ดี หลีกเลี่ยงพืชทั้งหมด ที่มียาง และ นอกจากระวังต้นพืชแล้ว ใบของพืชต่างๆที่ตกหล่นอยู่บนพื้นสนาม ก็อาจจะมีใบพืชที่มีพิษอยู่ ต้องระวังให้ดีเลยค่ะ

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

ช่วงวัยของกระต่ายกับอาหาร

อะไรคืออาหารที่เหมาะสมสำหรับกระต่าย?

ที่จริงแล้ว อาหารหลักของกระต่ายคือ หญ้า เพราะสัตว์กินพืช ขนาดกระต่ายนี่ มันไม่มีปัญญาจะปีนป่ายขึ้นไปกินอะไรได้ แต่ก็นั่นแหละ ถ้าจะบอกว่าการเลี้ยงกระต่ายโดยให้กินเฉพาะหญ้าอย่างเดียวก็คงไม่มีใครเชื่อ ที่สำคัญก็คือ แม่ ๆ พ่อ ๆ ที่เลี้ยงกระต่ายอยู่ในเมือง แล้วรักเหมือนลูกอย่างพวกเรานี่ จะไปหาหญ้าหลากหลายชนิดจากที่ไหนให้เขา อีกอย่างหนึ่งอาหารกระต่ายที่ผลิตออกมาขายกันนั้นมีมากมายและล้วนแต่บรรยายสรรพคุณกันสุด ๆ ทั้งนั้น ซึ่งก็เหมาะสมเช่นกันที่จะนำมาเลี้ยงกระต่ายในห้องหรือในบ้านของเรา


บทความนี้จึงขอเดินสายกลาง คือขอให้คำแนะนำที่ถูกต้องและทำได้ ในการให้อาหารกระต่ายโดย ขอให้แบ่งช่วงวัยของกระต่ายออกเป็น ช่วง ๆ ดังนี้

1. กระต่ายวัยทารก (Infant/Baby) คือกระต่ายแรกเกิดจนถึง 1 เดือนครึ่ง
2. กระต่ายวัยเด็ก (Kids) คือเริ่มจากหย่านม ( ประมาณ 1 เดือนครึ่ง) จนถึง 3 เดือน
3. กระต่ายวัยรุ่น (Junior) คือช่วงหลัง 3 เดือน จนถึง 5 หรือ 6 เดือนแล้วแต่สายพันธุ์
4. กระต่ายโตเต็มวัย (Adult /Senior) เป็นกระต่ายที่พ้นวัยรุ่นมาแล้ว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
5. กระต่ายที่เริ่มตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก
6. กระต่ายมีอายุ...อันนี้พูดยาก ว่าจะเริ่มที่อายุเท่าไหร่ เป็นว่าพ้นวัย(ที่ควรจะ) ผสมพันธุ์ก็ แล้วกัน คือตกอยู่ในช่วง 4 ปีขึ้นไปสำหรับกระต่ายเพศเมีย ส่วนเพศผู้ก็อาจประมาณ 5 ปี

กระต่ายวัยทารก

อาหารหลักของกระต่ายวัยทารก ช่วงแรกเกิดจนถึง 15-20 วัน คือนมแม่เพียงอย่างเดียว พ้นจากนั้น กระต่ายน้อยจะเริ่มกินอาหารเม็ด(สำหรับกระต่ายเด็ก) ได้ ช่วงที่ควรกินแต่นมแม่นั้นเราไม่ควรเข้าไปยุ่งอะไร นอกจาก กรณี ต่อไปนี้ :-


แม่ตาย / แม่ไม่เลี้ยงลูก / แม่มีลูกมากเกินไปจนบางตัวแย่งเขากินไม่ทัน และอีกกรณีหนึ่งคือ ไปได้กระต่ายเด็กหรือลูกกระต่ายอายุน้อย ๆ มาเลี้ยง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ


นมที่พอจะหาได้และใกล้เคียงนมแม่กระต่ายที่สุดที่นิยมใช้กันเพื่อป้อนทารกกระต่าย มี 2 ยี่ห้อ คือ Esbilac และ KMR นมที่ใช้เสริม ในกรณีที่กระต่ายถูกพรากจากอกแม่ในวัยที่น้อยกว่า 1 เดือนครึ่ง อาจใช้ Esbilac และ KMR หรือประหยัดหน่อยก็เป็นนมแพะ ชนิด Sterilize ร่วมกับอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายวัยเด็ก
การให้นมลูกกระต่ายนี่ ผมขอยกไปเขียนเป็นเรื่องเป็นราวโดยละเอียดในอีกบทความหนึ่งต่างหากนะครับ

กระต่ายวัยเด็ก

มีอาหารเม็ดหลากหลายชนิดที่ตั้งใจผลิตกันขึ้นมาเพื่อกระต่ายวัยนี้ ซึ่งเป้นวัยที่ต้องการสารอาหารกลุ่มโปรตีนและแคลเซียมสูง เพื่อใช้ในการพัฒนากล้ามเนื้อและโครงสร้าง ยี่ห้อที่คุ้นหู้คุ้นตา คือ Oxbow รุ่น15/25 และ ยี่ห้อ Prestige รุ่น Junior และอีกหลากหลายชนิด

ในวัยเด็กนี้ ตามธรรมชาติ กระต่ายจะเริ่มกินหญ้าแล้ว แต่ในบ้านเรา มักจะบอกต่อ ๆกันมาว่า ห้ามให้ผักและหญ้าสดกับกระต่ายที่อายุไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งผมก็เห็นด้วยและขอเสริมเหตุผลให้ดังนี้

ในเมืองใหญ่ หรือแม้ในชนบทซึ่งมีการทำไร่ทำสวน ที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงกันมากมายนั้น การจะหาหญ้าที่สดสะอาดปราศจากสารเคมีและไข่พยาธิ ไข่แมลง นั้นเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งนัก จึงจำเป็นต้องแนะนำด้วยเหตุผลกันว่า ในวัยเด็กที่อายุยังไม่ถึง 3 เดือนนี่ น้ำหนักเขาน้อยมาก สารเคมีเพียงนิดเดียว (ไม่กี่ ppm) ที่กระต่ายใหญ่พอรับและขจัดได้ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับกระต่ายเล็ก ๆ ได้มากเพราะเมื่อเทียบปริมาณสารพิษกับน้ำหนักตัวแล้วนับว่าสูงทีเดียว


อีกประการหนึ่ง ร่างกายกระต่ายน้อยยังไม่แข็งแรง และระบบการกำจัดสารพิษยังไม่ดีพอที่จะจัดการกับสิ่งแปลกปลอมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการกรองสารเคมีจากเลือดสู่สมองซึ่งจะพัฒนาเต็มที่เมื่อย่างเข้าอายุ 3 เดือน และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมคุณหมอถึงไม่หยดยากำจัดพยาธิให้กระต่ายที่อายุไม่ถึง 3 เดือน

สรุปได้ว่า กระต่ายเด็กที่ยังอายุไม่ถึง 3 เดือน ควรให้อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายเด็กเสริมด้วยหญ้าแห้งที่ผลิตมาอย่างสะอาด เน้นหนักที่หญ้า (ต้นถั่ว) แห้งที่มีชื่อว่า Alfalfa เนื่องจากมีโปรตีนและแคลเซียมสูงดี

การให้อาหารกระต่ายในวัยเด็ก ผู้เลี้ยงกระต่ายมืออาชีพ นิยมให้อาหารแบบ Free Feed หมายความว่า ให้กินได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัด เพื่อให้พัฒนาการทางร่างกายของน้องต่ายโตเต็มที่

ที่ Bunny Delight เรา ใช้อาหารกระต่ายเด็ก ยี่ห้อ Prestige รุ่น Junior ส่วน Alfalfa เราใช้ยี่ห้อ KING ให้ทุกเช้า ส่วนตอนเย็นเราให้หญ้าแห้งหลากหลายชนิดสลับกัน
ทั้งหญ้า และอาหาร เมื่อครบ 24 ชั่วโมง คือทุกเช้า อาหารทั้งหมดที่เหลือค้าง ต้องเททิ้งก่อนจะชื้นและมีราขึ้น ส่วนภาชนะทุกใบก็ล้างแล้วตากแดด (เรามีภาชนะ 2 ชุดสลับกันใช้งาน



กระต่ายวัยรุ่น

กระต่ายวัยรุ่น กำลังมีพัฒนาการทางร่างกายที่ยังคงต้องการอาหารที่มีคุณค่าโปรตีนและแคลเซียมสูงอยู่ จึงยังคงให้กินอาหารสำหรับกระต่ายเด็กต่อไป ที่ต่างออกมาคือพออายุได้ 3 เดือน ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของน้องต่ายก็สมบูรณ์พอในขณะเดียวกัน น้ำหนักก็มากพอ สมควรที่จะเริ่มให้หญ้าสดกินได้แล้ว หญ้าสดที่หาได้ง่ายในบ้านเราและมีคุณค่าทางอาหารทีดีคือ หญ้าขน นี่เอง

ที่ Bunny Delight เราโชคดีที่อยู่บ้านนอก แม้ว่าแถวนี้จะมีการทำแปลงเกษตรอยู่บ้าง แต่ก็มีแปลงที่ดินของอภิมหาเศษฐี (คือท่านผู้มีที่ดินแล้วทิ้งไว้ให้หญ้าขึ้นเล่น ๆ ) อยู่หลายแปลง หญ้าขนแถวนี้จึงหาง่ายและอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักทั้งอวบทั้งยาว แม้กระนั้น เราก็เลือกตัดมาเฉพาะยอด มีใบ 3 – 4 ใบ ใน 1 ก้าน นำมาแช่ในน้ำยาล้างผัก ซึ่งก็เป็นตัวเดียวกันกับน้ำยาล้างขวดนม ซึ่งเป็นสารที่สกัดมาจากมะพร้าวและข้าวโพด แช่อยู่ 10 นาทีก็สบัดน้ำทิ้ง เพื่อล้างฝุ่นผงและสิ่งแปลกปลอม ถัดจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำเปล่า 1 ครั้งแล้วแช่ในน้ำที่ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต อีก 10 นาที เพื่อขจัดสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตราย ล้างน้ำเปล่าอีก2-3รอบ สบัดเบา ๆ แล้วผึ่งให้หมาดน้ำก่อนเสิร์ฟ

การเริ่มให้หญ้าสด ควรเด็ดเฉพาะยอดแหลม ๆ พร้อมใบ อีก 1 ใบ ให้กินตัวละ 1 ก้านก่อน แม้ว่าน้องต่ายจะหม่ำกร้วม ๆๆ รวดเดียวหมดแล้วทำท่ากระดี๊กระด๊า ตะกายกรง ประมาณว่า เอาอีก ๆๆ ก็ขอความกรุณาอย่าใจอ่อนเด็ดขาด รอดูอาการว่า ถัดจากนั้น อึเขายังเป็นปกติดี ไม่เหลว และไม่มีสัญญาญอันตรายใด ๆ วันต่อมาค่อยให้ 2 ก้าน แล้วดูอาการ หรือค่อย ๆเพิ่ม แต่ไม่เกินวันละ 4 ก้าน จนครบ 1 สัปดาห์ ถ้าทุกอย่างเป็นปกติ จะให้เท่าไหร่ก็เอาเลย

วัย 3 เดือนครึ่ง คือหลังจากให้หญ้าขนมาราว ๆ 1-2 อาทิตย์ ก็ลองให้ผักเสริมในช่วงเช้า ๆ หรือ ค่ำ ๆ ให้คราวละชนิดก่อน เมื่อไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ ก็จัดจานผักสลัดให้ได้เลย

สลัดผักสดที่ Bunny Delight ให้กับน้องต่ายของเรา อาทิตย์ละ 3-4 วัน คือ ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง ผักกาดหอม แครอทหั่นชิ้นเล็ก ๆ ข้าวโพดหวาน(ดิบ) แกะเมล็ด (อย่าให้มาก จะอ้วน) และแอปเปิ้ล (ระวังแกนและเมล็ด มีพิษจ้ะ) นาน ๆทีก็มี เซอราลี่ บ้าง คึ่นช่ายบ้าง กระเพรา ให้ตัวละ 1 ก้าน อาทิตย์ละ 1 ครั้ง

ผักที่ต้องห้ามสำหรับกระต่ายคือ ผักบุ้ง เพราะมียาง-ระบบย่อยอาหารของกระต่ายอาจรวนได้ / ถั่ว,กะหล่ำปลี ไม่ควรให้เพราะทำเกิดแกสในกระเพาะทำให้ท้องอืด และ กระถิน เพราะมีสารพิษที่ชื่อ Mimosine ทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ขนร่วง และต่อมไทรอยด์โต(คอพอก) สาร Mimosine นี้อาจลดลงได้ถ้าตากแดดหรืออบความร้อนในขบวนการผลิตอาหารสัตว์ระดับโรงงาน แต่สำหรับเรา ๆ เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไว้ก่อน จะปลอดภัยกว่า

กระต่ายโตเต็มวัย

เมื่อกระต่ายเริ่มอายุได้เกือบ ๆ 6 เดือน พัฒนาการต่าง ๆ จะถึงจุดคงที่แล้ว ต้องเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารสำหรับกระต่ายโต ซึ่งจะลดปริมาณโปรตีนลงและเน้น ไฟเบอร์มากขึ้น ควรผสมอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายโต กับอาหารเม็ดเดิม แทรกเข้าไปวันละประมาณ 15 - 20 % จนครบ 1 สัปดาห์ กระต่ายก็จะชินกับอาหารใหม่ทั้งหมด จากประสบการณ์พบว่าถ้าเป็นอาหารยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่างรุ่นกัน มักไม่มีปัญหา

การให้ Alfalfa ในช่วงวัยนี้ ควรลดลงเปลี่ยนเป็นหญ้าแห้ง พวก Timothy / Orchard / Mountain Hay /Bermuda /ฯลฯ แทน


การให้หญ้าสด และผัก ก็ให้เหมือนกระต่ายรุ่น คือให้หญ้าขนสด ตลอดวัน และเสริมผัก สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เลิกการให้อาหารแบบ Free Feed แล้วเริ่มคุมปริมาณอาหารเม็ดไว้ที่ 40-50 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าเขากินจนหมดแล้วยังหิวอยู่ เขาจะกินหญ้าสดและหญ้าแห้งแทนเอง ถ้าให้อาหารเม็ดมากไป จะอ้วน ทำให้อ่อนแอ ผสมพันธุ์ติดยาก


หญ้าแห้งจะช่วยให้ฟันหน้าของกระต่ายสบกันสนิท เนื่องจากต้องบดเข้าหากันในขณะเคี้ยวหญ้า ถ้ากระต่ายกินแต่อาหารเม็ดซึ่งขบปุ๊บแตกปั๊บ ฟันของกระต่ายจะไม่ได้บดเข้าหากันเหมือนเคี้ยวหญ้า อาจจะงอกยาวออกมาทำให้ฟันผิดรูปได้

กระต่ายที่เริ่มตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก

เมื่อกระต่ายท้อง กระต่ายต้องการสารอาหารมากสำหรับบำรุงตัวเองและลูกในท้อง ยังคงใช้อาหารสำหรับกระต่ายโต แต่กลับมาเสริมโปรตีนและแคลเซียมด้วย Alfalfa ในขณะเดียวกัน ปริมาณอาหารเม็ดและหญ้า ต้องให้มากพอ หรืออาจจะ Free Feed เลยก็ได้ ส่วนผักสด เพิ่มปริมาณข้าวโพดหวานดิบ และควรเสริมเซอราลี่ ให้ด้วย จะช่วยให้แม่กระต่ายสร้างน้ำนมได้ดีขึ้น

ให้อาหารแบบนี้กับกระต่ายหลังหย่านมลูกต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงดี แล้วจึงค่อยปรับอาหารให้เป็นอาหารของกระต่ายโตธรรมดา ต่อไป


กระต่ายที่มีอายุมาก

กระต่ายเลี้ยงนี่ มีอายุยืนนะครับ อาจจะประมาณ 10 ปีถึง 15 ปี พออายุมาก ๆ คือเกินกว่า 4-5 ปีแล้วนั้น แทบไม่มีกิจกรรมอะไรแล้ว เอามาปล่อยสนามหญ้า ก็วิ่ง เปาะๆ แปะๆ 2-3 นาทีก็นอนเหยียด ตาปรือ เอามาอุ้มเล่นได้ง่าย ไม่หือไม่อือ ไม่ดิ้นไม่ตะกาย เพราะนอกจากจะคุ้นกับเราจนเป็นเพื่อนรักไว้ใจกันได้สนิทใจแล้ว ก็ยังไม่รู้จะซนไปหาอะไรอีกแล้วด้วย อาหารที่เหมาะกับกระต่ายวัยนี้ จึงน่าจะเป็นหญ้าต่าง ๆ เน้นแต่ไฟเบอร์เป็นหลัก ให้โปรตีนให้แคลเซียมมากไปก็เดือดร้อนไต ที่ต้องขับออก ดังนั้นก็ให้อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายโตบ้าง แต่ไม่ต้องมาก 30-40 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโล ก็พอแล้ว วางหญ้าแห้ง (ที่ไม่ใช่ Alfalfa) และหญ้าสด ให้เป็นหลัก วัยนี้ ผอมนิดหน่อยดีกว่าอ้วนเกินครับ เขาจะได้นอนหนุนตักเราเล่นไปนาน ๆ

อาหารที่สำคัญสุด ๆของกระต่ายวัยเกษียณ คือ อาหารใจครับ อุ้มเล่น ลูบหัวลูบตัวพูดคุยกับเขา อย่าละเลยทอดทิ้ง อย่าเห่อกระต่ายใหม่ ๆ จนลืมเขา นะครับ



ภาชนะใส่อาหาร

ภาชนะที่ดี คือถ้วยเซรามิกทรงกลมหรือรี ที่มีขอบตั้งตรง สูงประมาณ 3 ซ.ม. ขนาดของถ้วยต้องไม่ใหญ่จนกระต่ายเอาก้นเข้าไปแหย่ได้ง่าย ๆ เพราะกระต่ายหลายตัว ชอบอึ และ/หรือ ฉี่ ใส่ถ้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเล็กมากเพราะน้ำหนักเบา กระต่ายจะคาบเหวี่ยงได้ง่ายเกินไป ที่ใช้อยู่และรู้สึกพอดี คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 ซ.ม.

ขอยืนยันให้ใช้ถ้วยแบบเซรามิก (กระเบื้องเคลือบ) เพราะทำความสะอาดง่าย แห้งไว ถ้วยแบบชามดินเผานี่ใช้ใส่หญ้าแห้งได้ แต่ใส่อาหารไม่เหมาะจึงไม่ขอแนะนำ เพราะชื้นง่ายแห้งยาก ราขึ้นอีกต่างหาก เปียกฉี่เปียกน้ำที ล้างแล้วรอครึ่งวันยังไม่อยากจะแห้งดีเลย แต่ถ้ามีผลัดเปลี่ยน 2 ชุด ก็พอใช้ได้ครับ

การอึหรือฉี่ใส่ถ้วยอาหารของกระต่าย อาจเกิดจากการที่เขาต้องการสร้างกลิ่นว่า ถ้วยนี้เป็นของเขา แต่ในบางกรณี เช่น ถ้าฟันของเขาเก ยาว หรือปากเจ็บ กระต่ายก็ “จำเป็น” ต้องฉี่ใส่อาหาร ให้มันนิ่ม จะได้กินง่าย ดังนั้น ถ้าพบว่ากระต่ายฉี่ใส่ถ้วยอาหาร ขอให้รีบอุ้มกระต่ายมาดูว่าปากและฟันของเขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า

เกือบลืมไป ว่า น้ำสะอาด คืออาหารที่จำเป็นมากสำหรับกระต่าย ยิ่งกระต่ายที่กินหญ้าแห้งและอาหารเม็ดซึ่ง “แห้ง” มากเมื่อเทียบกับอาหารในธรรมชาติ กระต่ายก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้นไปอีก

เตือน
การที่ พ่อ ๆ- แม่ ๆ ของน้องต่าย บางราย ที่อาจจะติดนิสัยจากการเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวมา แล้วก็เลยเผลอไผลไปว่า กระต่าย ก็เป็นสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน คงไม่ต่างอะไรกับหมากับแมว ว่าแล้วก็....ให้กระต่ายกินอะไรอย่างที่เรากินเพราะเคยให้หมาให้แมวแล้วมันก็กิน มีบางคนเล่าว่า แบ่งขนมให้กระต่ายกินบ้าง บางรายหนักถึงขนาดกินข้าวมันไก่ ก็แบ่งข้าวแบ่งไก่ให้กระต่ายกิน เลยได้รับ “คำเตือน” จากเพื่อน ๆ ไปเยอะพอสมพอควร


กระต่ายนั้น แม้จะมีสี่ขา มีขนยาว แต่ก็ต่างกับหมา-แมวโดยสิ้นเชิง หมา-แมว นั้น โดยธรรมชาติเป็นสัตว์นักล่า และกินเนื้อเป็นอาหารหลัก แต่กระต่าย เป็นผู้ถูกล่า และเป็นสัตว์มังสวิรัติคือไม่กินเนื้อเลย ระบบย่อยอาหารก็คนละเรื่องกันเลย (กรุณาอ่านเรื่องการย่อยอาหารของกระต่ายในบทความเรื่อง กระต่ายคืออะไร ในเว็บนี้ ครับ)


ดังนั้น อย่าให้อะไรกับกระต่ายกิน ถ้ามันไม่ใช่อาหารสำหรับกระต่าย และแม้ว่าอาหารบางอย่าง กระต่ายจะกินได้ แต่ขอให้ระวังเรื่องปริมาณ เช่น คุณอาจให้มะละกออบแห้งชิ้นขนาด 1 x 1 ซ.ม. สัก 1 ชิ้น กับกระต่ายได้ เพราะไม่มีอันตรายอะไร แต่ ถ้าให้สัก 10 ชิ้นล่ะ?


พึงนึกไว้เสมอว่า คนเรามี น้ำหนัก ประมาณ 50-60 เท่า ของน้ำหนักกระต่าย ดังนั้น อะไร 1 ชิ้นสำหรับเรา จะมีปริมาณเท่ากับ 50-60 ชิ้น สำหรับกระต่าย นึกไว้อย่างนี้เสมอ ๆ จะช่วยเตือนให้เราระวังยั้งมือ ไม่ให้ความรักความเอ็นดูที่เกินเหตุของเรา ทำร้ายกระต่ายที่เรารักโดยไม่ตั้งใจ

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

มือใหม่หัดเลี้ยงอ่านทางนี้

มือใหม่เพิ่งเลี้ยงกระต่าย มีสิ่งที่ต้องระวังจ้า

1.อาหารน้อง
กระต่ายอายุ1-3เดือน<งดผักและผลไม้เด็ดขาด>ย้ำว่าเด็ดขาด!!!!!
แนะนำให้กินแต่หญ้าแห้งกับอาหารเม็ดเท่านั้นนะคะ ระบบย่อยเค้ายังไม่ดี
ถ้ากินอย่างอื่น เสี่ยงต่อท้องเสียมาก

มือใหม่หลายคนที่เลี้ยงกระต่ายแล้วตาย 99.99% ชอบโทษว่าซื้อที่จตุจักรบ้างล่ะ กระต่ายมีเชื้อโรคบ้างล่ะ จริงๆ มันเกิดจากอาการอื่นๆที่นอกเหนือจากหญ้ากับอาหารเม็ดที่ให้เค้ากินเลยท้องเสียตาย

ถ้าท้องเสียแล้วทำไงถ้าไม่มีหมอไม่มียาแก้ท้องเสีย<ต้องให้ยาแก้ท้องเสียกระต่ายเท่านั้นนะคะ>
จริงๆก็แล้วแต่ตัดสินใจค่ะ "อยากให้หาหมอเชี่ยวชาญกระต่ายนะค่ะเพราะหาหมอหมาแมวก็อาจจะตายเหมือนกัน"

-แนะนำให้หยุดอาหารเม็ด และกินหญ้าแห้งอย่างเดียวจนกว่าจะดีขึ้น ถ้าแย่ลง หาหมอค่ะ
-ที่สำคัญควรมียาสำหรับแก้ท้องเสียและแก้ไข้ของกระต่ายโดยเฉพาะติดไว้ที่บ้านเสมอนะค่ะ แล้วกระต่ายกินยาของคนไม่ได้ค่ะ

**ถ้าบังเอิญชื่อกระต่ายที่เพิ่งหย่านมมาอายุกระต่ายจะหย่านมประมาณ 1เดือนครึ่ง
เราจะต้องทุบอาหารเม็ดพอละเอียดให้น้องนะค่ะเพราะน้องเค้ายังใช้ฟันอันน้อยนิดกัดไม่ได้จร้า**

2.อาหารของคน
กระต่ายกินไม่ได้นะค่ะ เพราะกระต่ายไม่ใช่คนเค้าต้องการสารอาหารไม่เหมือนเราคะเช่น หมูปิ้ง*พิซซ่า
แต่อาหารคนบางอย่างก็กินได้ค่ะแต่ต้องศึกษาดีๆเสียก่อนเช่น จมูกข้าวสาลี เป็นต้นค่ะ

3.กินกระดาษเป็นอะไรมั้ย ?
เป็นค่ะถ้ากินปริมาณมากๆ ถ้ากินปริมาณน้อยๆก็ไม่เป็นอะไรแต่ทางที่ดีอย่าให้กินเลยดีกว่าค่ะ

4.แทะของกัดของ
กระต่ายเป็นสัตว์ที่ชอบแทะค่ะนิสัยนี้เลิกไม่ได้เด็ดขาด เราควรมีบริเวณสำหรับให้เค้าวิ่งเล่นนะค่ะรึไม่ก็เก็บข้าวที่สำคัญออกห่างจากเค้ามากที่สุด โดยเฉพาะสายไฟ

5.อาบน้ำ
โดยทั่วไปไปกระต่ายไม่จำเป็นต้องอาบน้ำ~!!! ถ้าไม่มอมแมมแบบเต็มที่จริงๆ
ถ้าจำเป็นใช้แชมพูที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง อย่าใช้ของคนนะค่ะเพราะแห้งเกินไปสำหรับเค้า
พออาบเสร็จก็ใช้ไดร์เย็นเป่าหรืออุ่นๆพอ ห้ามใช้ความแรงสูงนะค่ะ

6.แทะกรง
ต้องปล่อยเค้าวิ่งเล่นบ้างนะคะสังเกตได้จากเค้าจะกัดกรงหรืออาละวาดแสดงว่าเค้าเครียดอยากออก
ถ้าปล่อยให้เค้าวิ่งทุกวัน แต่ละวันให้วิ่งจนพอใจ พอเอาเข้ากรง เค้าก็จะไม่แทะกรงแล้วจ้า

รู้ได้ไงว่าพอใจ ปล่อยแรกๆ เค้าก็วิ่งๆ ซนๆถ้าเริ่มหามุมนอนแสดงว่าเริ่มพอใจแล้วแต่อย่าเพิ่งใจร้ายจับเข้ากรงทันทีนะให้เค้านอนเล่นอีกซักหน่อย ค่อยจับเค้ากรง


7.ฝึกกระต่ายเข้าห้องน้ำ
นิสัยกระต่าย เค้าฉี่เป็นที่นะ แต่ต้องฝึกให้ถูกที่หน่อยเท่านั้นเอง (แต่อึ ก็แล้วแต่ตัวนะ)
เค้าจะชอบฉี่แถวๆ ที่เค้าเคยฉี่ เช่น ถ้าเค้าเคยเผลอฉี่แถวนี้ เวลาเค้าจะฉี่เค้าก็จะมาที่แถวๆที่เดิม เพราะว่ามัีนมีกลิ่นอยู่ไงเราต้องเช็ดกลิ่นออกให้หมดนะ โดยเฉพาะแถวที่เราำไม่อยากให้เค้าฉี่อ่ะ ใช้น้ำเปล่าเช็ดไม่หมด ต้องใช้น้ำยา(บางคนก็ใช้เดทตอล)

ให้เอาห้องน้ำไปวางไว้แถวๆ ที่เค้าชอบฉี่
ต่อไปให้เอาทิชชู่เช็ดฉี่ แล้วเอาไปไว้ในห้องน้ำเค้า เอาเค้าไปดม

ถ้าเห็นเค้าทำท่าจะฉี่หรือเผลอฉี่ให้รีบอุ้มไปไว้่ที่ห้องน้ำไม่ต้องกลัวนะเค้าำไม่ฉี่ใส่เราหรอก อุ้มปุ๊ป ก็หยุดฉี่แล้ววางเค้าไว้ที่ห้องน้ำ ก็ลูบๆ เค้าแหละ แบบว่าให้ฉี่เสร็จก่อนถึงปล่อยให้ไปวิ่งเล่น ทำบ่อยๆเดี๋ยวเค้าก็รู้เอง
**เหมือนเดิม ตรงที่เค้า้ฉี่ก็ไปเช็ดให้หมดกลิ่น ถ้ายังฉี่อีก แสดงว่ามีกลิ่น ก็ต้ัองไปเช็ดอีก

8.วัยกำลังหยืดตัว
ส่วนมากคนที่เลี้ยงแรกจะบอกว่าทำไมตอนซื้อมาน่ารักจังเลยพอโตมาแล้วไม่น่ารักเราจะต้องไม่ท้อแท้ค่ะ กระต่าย1-2เดือนจะกำลังน่ารักน่าเล่นค่ะ ส่วนมากพออายุ3-5เดือนจะเป็นวัยกำลังหยืดตัว<กำลังน่าเกลียด บางตัวก็น่ารักตลอด^^> 6-7เดือนขึ้นไปน้องเค้าจะกลับคืนสู่สภาพความเป็นกระต่ายพันที่แท้จริงของเค้าค่ะ รึอาจไม่คืนเลยแต่เลี้ยงเค้ามาแล้วนี้นาก็ต้องเลี้ยงต่อไปเพราะรักเข้าอย่างจัง


9.พูดกับเค้าบ่อยๆ นะ เค้ารู้เรื่องลูบหัวเค้าบ่อยๆบางตัวก็ขี้อ้อน


10.น้ำแนะนำให้ใส่ขวดและควรเป้นน้ำสะอาดไม่ใช้น้ำปะปาน่ะ หากใส่ถ้วยเวลาน้องกินน้ำจะเข้าจมูกน้อง
และบางตัวจะเข้าไปเล่นจนเปียกหมดทั้งตัวจะเป็นหวัดได้


11.ป่วย
น้องป่วยเป็นอะไร ห้ามให้ยากินเองเด็ดขาด และรีบพาไปหาหมอโดยด่วน อย่าคิดว่าเล็กน้อย
ถ้ากระต่ายถึงขั้นชั๊ก ภายใน 5 นาที ก็บ๊ายบายได้เลยกระต่ายแพ้แอสไพรีน

12.การผลัดขน
กระต่ายผลัดขน ทุกๆ 3 เดือน ผลัดขนครั้งแรกอาจมีเพียงเล็กน้อย และสังเกตุไม่เห็น แต่~!!!!
การผลัดขนครั้งต่อไปจะเยอะมากบางตัวถึงขนแหว่งได้เลยอย่าตกใจ นะค่ะ

*เราควรแปรงขนให้ทุกวัน ถ้า-แปรงสวนทางและลากจางหางไปหัวบ่อยไป จะทำลายขนของกระต่ายได้
แนะนำ ให้ดึงขนที่หลุดออกมาอย่างเบามือแล้วตามด้วยแปรงขน เอามือแตะน้ำแล้วลูบกระต่ายจากหัวจรดหาง
จะช่วยให้กำจัดขนที่ตายแล้วออกได้

** กระต่ายแ่ต่ละตัวใช้เวลาต่างกัน บางตัว 1-2วัน ลางตัวใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ **

13.กระต่ายเด็ก หรือไม่กิน ไม่อึ ไม่ฉี่
-แนะนำให้ไปซื้อนมแพะที่เป็นกระป๋อง
-นมแมว (เ้ป็นผง ชงเอง)
ทิ้งให้หายร้อนก่อนนะคะ ให้ทดสอบกับหลังมือว่าร้อนไปไหม

**ห้ามใช้นมวัวเด็ดขาด กระต่ายจะท้องเสีย**ใช้ดรอปเปอร์ป้อน

อุ้มแบบเด็กกินนมอ่ะจ้า
แรกๆ ต้องบังคับกิน พอผ่านไปสัก 2 วันนะ ดูดไม่ปล่อยเลย

อาหารก็ไว้ในกรง ลองสังเกตดูว่าเค้าเริ่มกินก็ค่อยๆ ลดนมลงค่ะ

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

โรงพยาบาลสัตว์/คลินิก

คลินิกสวนนนท์รักษาสัตว์

199/187 หมู่บ้านสวนนนท์วิลล์ ซอยท่าอิฐ ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

โทร 02-5257165



วัฒนาสัตวแพทย์
41/387 ม.12 ถ.นวลจันทร์ (ติดวัดนวลจันทร์) คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม 10230
โทร.02-791-3804-5 เปืดบริการ 9.00-21.00น. (หยุดวันอาทิตย์)
www.wattanavet.com



ศูนย์พยาบาลสัตว์ เพ็ท แคร์
66/10-11 รามอินทรา กม 6.5 (ติดถนนใหญ่ ระหว่าง ซ 65-67) คันนายาว กทม 10230
02-9457832-3 fax 02-9457832 น.สพ.สง่า บุญโสดา


โรงพยาบาลรักษาสัตว์น้องธีร์น่ารัก
2413/874 ซ.ทินกร เขต ดินแดง
เเขวง ดินแดง กรุงเทพ 10400 โทร 085-8163509



สหพัฒน์สัตวแพทย์
528/31 ม.11 ซอย ไร่หนึ่งหนองขาม
ต.หนองขาม ศรีราชา ชลบุรี 20230
โทร 083-1103678 สพ.ญ.ณัฏฐนิชา พิมสาร





โรงพยาบาลสัตว์ศรีวรา
1325 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) ถ.ลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
0-2530-7636-8 โทรสาร. 0-2530-7633 น.สพ.ถิรายุทธ์ โฆสิตะมงคล



โรงพยาบาลสัตว์ โชคชัยสี่
116/25-26 ซ.โชคชัยสี่ ถ.ลาดพร้าว แขวงลาดพร้าว เขตบางกะปิ
02-933-3919 น.สพ.บุญเลิศ ปรีชาตั้งกิจ



โรงพยาบาลสัตว์ เจริญนคร
514-518 ซ.เจริญนคร 16 ถ.เจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน
02-438-6352



สวนลุมรักษาสัตว์
สวนลุมไนซบาซาร์ 1875 ห้อง B331-B336 ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน
02-251-1428-9 คุณพริ้งเพรา มุ่งประชาชน(คุณแพ๊ท)



โรงพยาบาลสัตว์ เจริญสุข
167 ซ.เจริญสุข (เอกมัย 5) สุขุมวิท 63 แขวงคลองเตย เขตคลองตัน กรุงเทพฯ
0-2391-9707 โทรสาร 0-2711-5276
น.สพ.เศรษฐพร เกษมสุวรรณ



คณะบุคคลสุขุมวิท 39
8 ซ.ประชัญคดี 3 ถ.สุขุมวิท 49 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา
0-2714-7574 0-2714-7544 คุณอาร์ม คุณศิรินรัตน์ ศิลปานันทกุล



คณะบุคคลทองหล่อ 20
946/10 ซ.สุขุมวิท 55 (ทองหล่อ20) ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา
02-714-7544 แฟกซ์ 02-714-7988 คุณศิรินรัตน์ ศิลปานันทกุล



คลีนิกสัตวแพทย์ จัสโก้ โทร.02-641-2393
129 ถ.รัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ



กุลพงศ์สัตวแพทย์ โทร.02-274-4642
198 ถ.ประชาอุทิศ สามเสนนอกฝั่งเหนือ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ

0-2539-1211 น.สพ.กุลพงศ์ บูรณปัทมะ



โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ.อังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
0-2252-9575,02-218-9756 (แผนกเพ็ทช็อป)


เกษตรเพทชอพ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ
0-2579-7539-40



คลีนิกสัตวแพทย์ 4 โทร.02-591-3995
ถ.เทศบาลรังสฤษดิ์ใต้ ประชานิเวศน์ 1 เขตบางเขน กรุงเทพฯ
0-2591-3995 สพ.ญ.อารยา ผลสุวรรณ



โรงพยาบาลสัตว์ เล็ก ลาดพร้าวสัตวแพทย์
679/4 ซอยลาดพร้าว 7 (ข้างโรงเรียนปานะพันธ์) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

01-929-5343, 02-511-5045 สพ.ญ.จักราภรณ์ สุวัธนะเชาว์



โรงพยาบาลสัตว์ สหัสวรรษ
827/1 ถ.ประชาชื่น เขตบางซื่อ 02-965-1442-3



โรงพยาบาลสัตว์ ติวานนท์
142/27-28 ถ.ติวานนท์ ต.ท่าทราย อ.เมือง
02-951-2299,02-951-3223



โรงพยาบาลสัตว์ มหานคร โทร.02-465-6653
2/16-17 ถ.เพชรเกษม เชิงสะพานนวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
0-2466-4663,Fax.02-891-8377 น.สพ.วรพงษ์ เตชะอาภรณ์กุล



โรงพยาบาลสัตว์ กรุงเทพ-นนท์
62/19-21 ถ.กรุงเทพ-นนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี
02-965-1442-3, 02-9650243,02-965-1114-5



โรงพยาบาลสัตว์ แจ้งวัฒนะ
77/20 ถ.แจ้งวัมนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด
02-980-8727-8



โรงพยาบาลสัตว์ บางกรวย
64/87-89 ม.6 (ใกล้ซอยทวีโรจน์) ถ.บางกรวย-ไทรน้อย อ.บางกรวย
02-883-6259,02-883-6935



โรงพยาบาลสัตว์ สามัคคี
71/189-191 ถ.สามัคคี ต.ท่าทราย อ.เมือง
02-980-1118-9



โรงพยาบาลสัตว์ นครนนท์
51/31-32 ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง
02-526-9306




โรงพยาบาลสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทย์ศาสตร์
034-351-901-2 โทรสาร 034-352-041,034-351-น.สพ.วรพงษ์ วงษ์สำราญ



โรงพยาบาลสัตว์ ไดร์ฟอิน
2646-2648 ซ.ลาดพร้าว 128/2 ถ.ลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
0-2378-0318,fax.02-377-0311 สพ.ญ.นุศรา ไพฑูรย์วงศ์วีระ



โรงพยาบาลสัตว์ ฮันนี่
2651-53 ถ.ลาดพร้าว ซอย 93-95 แขวงวังทองหลาง กรุงเทพ
0-2932-3375 สพ.ญ.นฤมล พงศ์ปฎิสนธิ



สัตวแพทย์โอรุ่งเรือง 02-542-0456-7
2593 ถ.ลาดพร้าว วังทองหลาง กรุงเทพ
น.สพ.ชัยดำรง โอรุ่งเรือง



โรงพยาบาลสัตว์ บึงทองหลาง
729 ม.145-47 ถ.ลาดพร้าว ซ.101 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
0-1806-3280 ,0-2370-2738 สพ.ญ.พูลทรัพย์ รุ่งนิศากร



คลีนิก เทียนชัยสัตวแพทย์
9/339 ซ.ศูนย์การค้ารามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตลาดพร้าว
02-522-1450 / 086-380-1099 น.สพ.เทียนชัย ศรีกิติกุลชัย



โรงพยาบาลสัตว์ เอ็น.พี. โทร.02-377-3764
213-215 ศูนย์การค้าแฮปปี้แลนด์ใหม่ ถ.ลาดพร้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพ
0-2377-5095 น.สพ.พัฒนา รัตนชินกร



โรงพยาบาลสัตว์ บางกะปิ
249 การเคหะ ซอย 3 ถ.นวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
0-2374-6349 สพ.ญ.ศุภมิต ธารเอี่ยม



โรงพยาบาลสัตว์ แฮปปี้แลนด์
37 ถ.นวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพ
02-378-0992,0-2375-5770 สพ.ญ.สุปราณี ศรีวราภร



โรงพยาบาลสัตว์ เมตตา
13 ลาดพร้าว 106 (บุญอุดม) เขตบางกะปิ กรุงเทพ
0-2539-1444,0-2538-6176 สพ.ญ.จันทิมา โลหชิต



VET CORNER
190 ถ.แฮปปี้แลนด์สาย 1 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
0-2734-3887 น.สพ.ภาสกร รัตตโอภาส



ลาดพร้าว 101 รักษาสัตว์
1210 ถ.ลาดพร้าว ซอย 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพ
0-2370-2146,0-2370-2401 น.สพ.รักชาติ คงบุญ



โรงพยาบาลสัตว์ กม.8
39/171 ถ.รามอินทรา กม.8 จรเข้บัว บางกะปิ กรุงเทพฯ 10230
02-510-5439 สพ.ญ.สุภัทรา ศีตมโนชญ์



คลีนิก ลาดพร้าว 130 รักษาสัตว์
64 ซ.ลาดพร้าว 130 ถ.ลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
0-2378-0042 081-837-8986



บ้านรักษ์สัตว์ 101
3312/6 ถ.ลาดพร้าว เขตบางกะปิ
02-376-0067 สพ.ญ.กฤษณี บัวเทศ



โรงพยาบาลสัตว์ หมอสุเมธ
475 ถ.นวมินทร์ (ซ.37 ) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
02-733-3406/01-297-3693 น.สพ.สุเมธ คงชาตรี



โรงพยาบาลสัตว์ บ้านสัตว์เลี้ยง (นวมินทร์)
25/10 ปากซอย ม.ซื่นกมลนิเวศน์ ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
0-2948-8363



สัตวแพทย์ ชลิต
20/2 ม.13 ซ.วัดคู้บอน ถ.รามอินทรา แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพฯ
0-2943-4318 น.สพ.ชลิต โตสุขเจริญ



สถานพยาบาลสัตว์ อินทรารักษ์
50/75 ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
0-2374-2034,0-1439-0060 น.สพ.จักรพล ศรีคราม


สหกรณ์รักษาสัตว์
4/77 ม.สหกรณ์ ถ.สุขาภิบาล 2 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
0-2731-8966 น.สพ.ปรมะ ตันวีระ



นวลจันทร์สัตวแพทย์
40/371 ถ.นวลจันทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
0-2519-5074,0-2946-2151 สพ.ญ.ลำแพน วิบูลย์วิภา



ภูวดลสัตวแพทย์
51/15 หมู่บ้านเสนา 88 ซ.นวลจันทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
0-2946-3197 06-6773257 น.สพ.ภูวดล พรหมขาวทอง



โรงพยาบาลสัตว์ นวมินทร์
54/21-22 ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม.
02-944-1366-7 0-1821-1809 สพ.ญ.จีรนันท์ ชาติยานนท์



โรงพยาบาลสัตว์ ปัฐวิกรณ์
27/49 เยื้องทางเข้าหมู่บ้านปัฐวิกรณ์ 1 ถ.สุขาภิบาล 1 คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม.
01-637-9212,02-519-2546 น.สพ.ดร.กมลชัย ตรงวานิชนาม



โรงพยาบาลสัตว์ มัยลาภ 0-9134-1300 หมอวิทย์
15/15 ซ.มัยลาภ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน
0-2860-1158 กด4



คลีนิก รักษาสัตว์เพ็ทส์ไอแคร์
11/35 ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตคลองกุ่ม
09-789-3244 0-2509-1387 สพ.ญ.ปลินธร แสงจันทร์



โรงพยาบาลสัตว์ นวลจันทร์
ซ.รามอินทรา 40 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน
06-329-8725 0-2509-7041



คลีนิกสัตวแพทย์ เพทส์คลับ
47/17 ซ.รพ.นวมินทร์ ถ.สีหบุรานุกิจ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
0-2906-3849 สพ.ญ.นรรษพร แก้วมาก



สัตวแพทย์ หทัยราษฎร์
6/53 ถ.หทัยราษฎร์ แขวงบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
0-2906-4321 น.สพ.เวธน์ โชติจิรนันท์



ซื่อตรงสัตวแพทย์
58/20 หมู่บ้านซื่อตรง ถ.สุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
0-2988-1228,01-928-2602 คุณกันยวีร์ สุวินทวงศ์



คลีนิก รักษาสัตว์นิมิตรใหม่ 02-914-6759
57/1-3 ถ.นิมิตรใหม่ แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา
02-914-7788

คลินิกสัตว์เมตตา
288/33 หมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ ถ.ช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์ 053-205-055 มือถือ 089-755-4994
เปิดทุกวัน ตอนเย็น (17.00-20.00)

คลินิกหมอกะหมา
7/89 ม.2 ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
076-471461, 087-2465954 หมอเก๋


หมอใหม่รักษาสัตว์
97/187 ม.4 (ใกล้ตลาดท้ายรถ ) ถ.วิรัชหงษ์หยก ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000
076-522-731
08-4645-3232



คลินิกรักษาสัตว์

325/21 ถนนสีหราชเดโชไชย ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 โทร. 043-344794, 083-4132537 คุณหมอเรืองทอง กิจเจริญปัญญา



สัตหีบ หมอรักสัตว์
18/76 ม. 2 ถ.สุขุมวิท ต.สัตหีบ
อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 20180 โทร 038-437684 น.สพ.สุภเนต มาตรสงคราม

คลินิกด่านสำโรงสัตวแพทย์
สุขุมวิท113 ตรงข้ามซอยด่านสำโรง26
เขตสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
10270 โทร.02-384-1983 โทรสาร 02-757-1329 น.สพ.เศกศักดิ์ คำโสภา
เปิด 9.00-21.00 น. หยุดทุกวันพฤหัสครับ



บ้านหมารักษาสัตว์

888/1-2ถ.มิตรภาพ ซอย15 ต.ในเมือง
อ.เมือง นครราชสีมา 30000 โทรศัพท์
044-298432, 089-8452891 สพ.ญ.นันท์นภัส ศรีนาค



เพิ่มเติมรายชื่อครับ (22/3/08)
คลินิกรักสัตว์(คลินิกรักษาสัตว์นครนายก)
(ถนนชลประสิทธิ์ระหว่างซอย 2-3ต.นครนายก อ.เมืองจ.นครนายก
ติดต่อหมอตุ๊ก โทร.081-4563910,037-320408

คลีนิคสัตวแพทย์(ตรงข้ามร.ร.สามัคคี)481
ถ.พิชิตรังสรรค์ ต.ในเมืองอ.เมือง จ.อุบลราชธานี

สพญ.นันทนา เกรียงธีรศร045-261071








เพิ่มเติมรายชื่อคร้าบ (update 26/12/07)



เอ ซี ซี รักษาสัตว์

146/9 ม.4 ถ.เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 053-399489, 081-8038991 น.สพ. อัครเดช โชติปรีชารัตน์

เพิ่มเติมรายชื่อคร้าบ (update 24/8/07)

ศูนย์พยาบาลสัตว์ เพ็ท แคร์
66/10-11 รามอินทรา กม 6.5 (ติดถนนใหญ่ ระหว่าง ซ 65-67) คันนายาว กทม 10230
02-9457832-3 fax 02-9457832 น.สพ.สง่า บุญโสดา


(update 9/8/07)

โรงพยาบาลรักษาสัตว์น้องธีร์น่ารัก
2413/874 ซ.ทินกร เขต ดินแดง
เเขวง ดินแดง กรุงเทพ 10400 โทร 085-8163509



สหพัฒน์สัตวแพทย์
528/31 ม.11 ซอย ไร่หนึ่งหนองขาม
ต.หนองขาม ศรีราชา ชลบุรี 20230
โทร 083-1103678 สพ.ญ.ณัฏฐนิชา พิมสาร

คลีนิก รักษาสัตว์ (จ.นครนายก)
ข-1 291 (ตรงข้ามโรงแรมปันใจ) ต.สุวรรณศร อ.เมือง จ.นครนายก
0-3731-3021 น.สพ.ชัยนาท แสงตา



อรัญการปศุสัตว์
155/16 ม.7 ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ
081-864-5665 คุณสุนิสา ปุริสพันธ์



เพื่อนแท้ 4 ขา
664/8 ม.11 ถ.หน้าเครือสหพัฒน์ ต.หนองขาม อ.ศรีราชา
081-717-1418 ส.พญ.รหัสชนะ เครือวัลย์



วรรณพงศ์สัตวแพทย์ โทร.01-940-7395
115/5 ถ.สวนสมเด็จ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
0-1940-7395 น.สพ.วรรณพงศ์ จรามร



คลีนิกสัตวแพทย์ 55
65 ถ.เจิมจอมพล ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
สพ.ญ.พวงพรรณ อรุณรัตนา



คลินิค พัทยาสัตวแพทย์
157/15 ม.5 ถ.พัทยา - นาเกลือ อ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
038-423-410,421-699,0-1374-1615 FAX.038-4 น.สพ.นพ สุขปัญญาธรรม



คลีนิก ศรีราชารักษ์สัตว์
39/6-7 ถ.สุรศักดิ์ 1 ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
038-310-663 น.สพ.อนุชา ณ ป้อมเพชร



คลีนิก รักสัตว์ (ฉะเชิงเทรา)
121/17 ซ.ตรอกข้าวหลาม(ศุภกิจ ซ.1) อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
0-9628-8756,0-6618-4827 น.สพ.ทรงธรรม สุขประสงค์



ศูนย์สุขภาพสัตว ระยอง
373/21 ตรงข้าม รพ.ธนบุรีศรีแกลง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง
0-1697-9657 น.สพ.ณรงค์ศักดิ์



เทพประสิทธิ์สัตวแพทย์
315/69 ม.12 ถ.เทพประสิทธิ์ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
038-250-562,211-184,0-1621-0607 น.สพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุตร



คลินิค เมืองชลสัตวรักษ์
843/3 ซ.ตลาดใหม่ ต.บ้านโขด อ.เมือง จ.ชลบุรี
038-272-719,038-279-159 น.สพ.จำเรือง พานเพียรศิลป์



คลีนิก สัตวแพทย์ (ระยอง)
91/3 ถ.จันทอุดม ตรงข้ามซอยเรือนจำ ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง
038-621-742 น.สพ.วีระพล เตียงสุวรรณ์



โรงพยาบาลสัตว์ บ้านแก้ว 039-324-137-8
2/40-41 บ้านแก้ววิลล่า ถ.รักศักดิ์ขมูล อ.เมือง จ.จันทบุรี
39-324-137-8 น.สพ.สมชาย เศรษญเวคิน



บ้านฉางสัตวแพทย์
65/80 หมู่ 5 ตรงข้ามศูนย์การค้าบ้านฉาง อ.บ้างฉาง จ.ระยอง
038-601-815 น.สพ.เอมอร พิริยะประภากุล



โรงพยาบาลสัตว์ พัทยา
49/86-87 ถ.พัทยาใต้ ต.บางละมุง อ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
038-373-622 โทรสาร 038-373-290,0-1209-653สพ.ญ.เจริญศรี ชัยปลื้ม



โรงพยาบาลสัตว์ จันทบุรี Smart-Pet
92/1-5 ถ.ตรีรัตน์ ม.11 ต.พลับพลา อ.เมือง
039-314-848,01-910-1029 น.สพ.วรพงษ์ วงษ์สำราญ



นาเกลือสัตวแพทย์
56/151-2 หมู่ 5 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
038-225-640 น.สพ.สุกิจ บ่ายคล้อย



คลีนิก หมอภูมิสัตวแพทย์
159/29 ม.4 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 038-235-420
0-1857-6773,038-235-420 น.สพ.ภูมิ ยังสุนิตย์



พนัสสัตวแพทย์
17/1-17/2 ถ.จารุวร ต.พนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
0-3846-2649 คุณนุจรี เชาวดี



คลีนิก รักษาสัตว์ (น.สพ.ทวีวัฒน์)
300/37-38 หมู่ 12 ถ.เทพประสิทธิ์ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
0-3834-6552 , 0-3830-0508 น.สพ.ทวีวัฒน์ บุญดำ



เพ็ทแคร์คลีนิกรักษาสัตว์ (ระยอง)
8/26 ถ.ศูนย์การค้าสาย 4 อ.เมือง จ.ระยอง
0-1654-1569 น.สพ.ศราวุธ คงเมฆ



ร้าน หมอเกรียง
1/5 ถ.ศรีนวดิตถ์ อ.ท่าใหม่
0-3935-6207, 039-433-381 น.สพ.เกรียงศักดิ์



คลีนิก บ้านสัตวแพทย์
340/25 หมู่ 10 ถ.พัทยา-สาย 3 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง
038-488-407 น.สพ.เกรียงศักดิ์ ปรีชาลักษณ์



โรงพยาบาลสัตว์ รักสัตว์ (ชลบุรี)
116/40 หมู่ 1 ถ.พระยาสัจจา ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี
0-3817-3582-3 น.สพ.สุริยา อริยะดำรงขวัญ



คลีนิก สัตว์เลี้ยงแสนรัก (ชลบุรี)
107 ถ.ศรีราชานคร 2 ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
0-3817-875 น.สพ.วุฒิเลิศ กล้าหาญ



เค.พี.สัตวแพทย์
43/42 ถนนตรีรัตน์ ต.จันทนิมิตร อ.เมือง จ.จันทบุรี
039-301-284,01-635-3723 น.สพ.อัศวิน จำหน่ายผล



หมอหนึ่งสัตวแพทย์
47/34 ม.9 ถ.สุขุมวิท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
0-1437-9620 น.สพ.เผด็จ ศิริดำรง



คลีนิก รักษาสัตว์ PET BOX
211/10 ม.7 ซ.แสงจันทร์เนรมิต ต.เนินพระ อ.เมือง
081-930-679 คุณทิพย์วริน ปฏิวรไต



คลีนิก รักษ์สัตว์ (ระยอง) 038-860-693
101/5-6 ถ.จันทอุดม ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง
038-860-693 คุณดวงพร อินทรัตน์รังษี



บุญรักษา สัตวแพทย์ โทร.038-795-3300
110-111 ม. 3 ถ.สุขุมวิท ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี
038-795-330 น.สพ.ศักดา ตรีวัฒนางกูร



นาวีสัตวแพทย์ 01-307-3045
6/18 หมู่ที่ 7 ถ.สุขุมวิท อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
081-307-3045



พนมสัตวแพทย์
1230 ต.พนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
038-836-635, 081-921-5314



คลีนิก หมอรักษาสัตว์ (หมอสุภาพ)
357 ถ.ราษฎร์ดำริ ต.หน้าเมือง อ.เมือง
037-216-737,01-444-3880



นายสัตวแพทย์ ปราจีนบุรี(หมอทรงธรรม)
45/2 ถ.ปราจีนตะคาม ต.หน้าเมือง อ.เมือง
07-142-8816



อำนาจรักษาสัตว์
83/4-5 ถ.สุขุมวิท ต.เสม็ด อ.เมือง
038-383-294,06-836-7787 คุณอำนาจ



คลีนิก เพื่อนรักสัตว์เลี้ยง
14/4 ถ.สุขุมวิท ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง
038-861-534 สพ.ญ. พิไลลักษณ์ หงษ์ไท



คลีนิก สุขภาพสัตว์ระยอง
1/43,44 (ข้างโรงหนังระยองรามา) ถ.สุขุมวิท ต.ประดู่ อ.เมือง
038-876-325 อ.น.สพ.มโน สงวนแก้ว



บ่อวินสัตวแพทย์
120/112 ม.3 ถ.บ่อวิน-ห้วยปราบ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา
038-337-215 ,06-822-8090 น.สพ.ชัยวัฒน์ โชติวรรณพร



โรงพยาบาลสัตว์ เนินพลับหวาน
21/99-100 ม.5 ซ.สุขุมวิท-พัทยา 53 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง
038-406-384-5,01-437-9620 แฟกซ์ 038-406-3น.สพ.เผด็จ ศิริดำรง



เนินพลับหวานสัตวแพทย์
13/3 ม.5 ถ.สุขุมวิท 50 ต.หนองหรือ อ.บางละมุง
038-415-201 น.สพ.กิตติพันธ์ พุทธสม



คลีนิค สัตว์เลี้ยง
245/6 ถ.พัทยากลาง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง
081-8692165, 038-360-303 ณัฐชญา พิบูลย์เวช



คลีนิค อัจฉรา สัตวแพทย์
26/107 ม.1 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ
038-245-265,038-245-964,01-653-4236 สพ.ญ.อัจฉรา บุญสร้าง



โรงพยาบาลสัตว์ นาจอมเทียน
5/5 ม.11 ถ.สุขุมวิท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง
038-757-019 น.สพ.ชินกาจ ชพานนท์



รวมพรสัตวแพทย์
507 ถ.ศุภกิจ ต.หน้าเมือง อ.เมือง
089-444-5169 สพ.ญ.รวมพร โอนธรรม



นานา เพ็ทมาร์ท
23/48 ม.7 (สี่แยกวัดไผ่ล้อม) ถ.ญาณวิโรจน์ ต.จันทนิมิตร อ.เมือง
039-313-333,01-638-2222 น.ส.ณภัทร์ อธิคุณาสิน



คลีนิก สุขภาพสัตว์พัทยา
60/126 ถ.พัทยาสาย 3 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง
038-373-133,06-366-8565 น.สพ.ธนบดี ตั้งทวี(หมอนิก)



บูรพาสัตวแพทย์
155 ถ.เทศบาลสาย 5 ต.ขลุง อ.ขลุง
06-312-5772,06-318-4157 สพ.ญ.มณี โตวินัส



โรงพยาบาลสัตว์ ชลบุรี
168/60 ง-จ ถ.อัคนิวาต ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง
038-277-606,01-861-9201 น.สพ.สมยศ อุดมมั่นถาวร



คลีนิก บ้านสัตวแพทย์(อ.แกลง)
204/175 ตลาดภิบาลพัฒนา ต.ทางเกวียน อ.แกลง
038-672-622,09-834-4314 น.สพ.เสถียร งามฉาย



บ้านรักสัตว์(จ.ตราด)
125/1 ม.2 ถ.สุขุมวิท ต.วังกระแจะ อ.เมือง
039-525-069,01-523-1164 น.สพ.ประหยัด เข่งค้า



โรงพยาบาลสัตว์ ปราจีนบุรี
163/2-3 ถ.ราษฎรดำริ ต.หน้าเมือง อ.เมือง
037-216-353,09-444-6620 น.สพ.เกียรติภูมิ ก่อเกียรติดำรง



รุ่งโรจน์สัตวแพทย์
10/9-10 ถ.พัทยาเหนือ(ข้างท่ารถทัวร์กรุงเทพ-พัทยา) ต.นาเกลือ อ.บางละมุง
038-416-855,01-733-7035 น.สพ.รุ่งโรจน์ จตุภาคสัมพันธ์



โรงพยาบาลสัตว์ ศรีราชาเพ็ทแคร์
137/13-14 ถ.สุขุมวิท ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา
038-325393,081-7111066 สพ.ญ.อัจฉรา ธงตัน



พยูนสัตวแพทย์
48/184-185 ถ.พยูน ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง
038-601-268 น.สพ.ศราวิน สินธพทอง



คลีนิก รักษาสัตว์ (น.สพ.เสกสรร)
ทางเข้าโรงแรมระยอง ออคิด 39 ซ.นิวสตาร์ ต.เนินพระ อ.เมือง
038-800-198/081-658-3441 น.สพ.เสกสรร แสงศัพท์



คลีนิกสัตวแพทย์ โอภาส
77/34 ม.12 ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง
038-823-847,085-922-3598 น.สพ.โอภาส มหาศักดิ์สวัสดิ์



สมหมายสัตวแพทย์
213 ถ.ศรีกุลชร อ.พนัสนิคม
038-788-31 น.สพ.สมหมาย



โรงพยาบาลสัตว์ วังน้ำเย็น
92/5-6 ม.1 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น
น.สพ.จิตรกร กิตตินราภรณ์



นาป่าสัตวแพทย์
23/264 ม.1 ต.นาป่า อ.เมือง
081-815-5019,081-720-6852 น.สพ.ทวีป ทรัพย์ส่ง



บริษัท โรงพยาบาลสัตว์ปิยะมิตร จำกัด
58/236 ถ.ชาตะผดุง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
043-338-383 คุณปรีณัน จิตะสมบัติ



สุรินทร์สัตวแพทย์ 044-518-569
187/1 ถ.ภักดีชุมพล อ.เมือง จ.สุรินทร์
044-518-569



คลีนิก รักษาสัตว์ (นครราชสีมา)
309 ถ.ผาสุก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
044-412-583/06-665-2096 น.สพ.สมพงษ์ นิยมสราญ



กาฬสินธุ์สัตวแพทย์ 043-820-750
330/21-22 ถ.ธนพล อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
043-820-750,01-954-4115



คลีนิก ทานตะวัน
34/29-30 ถ.อินจันทร์ณรงค์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
044-614-647,01-390-0665



โรงพยาบาลสัตว์ ลูกไม้สัตวแพทย์
1/8 ถ.สนามบิน (ร.ร.อุดรพิชัยรักษ์) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
042-348-988,01-545-5400 น.สพ.นพดล สมบูรณ์เรศ




คลีนิก รักสัตว์ (นครราชสีมา)
359 ม.5 ถ.สืบศิริ ต.หนองจะบก อ.เมือง จ.นครราชสีมา
44-353-167 สพ.ญ.อรฎิมา อัศโกศล



ร้าน เพ็ทชอพ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น
043-343-081


คลีนิก บ้านรักสัตว์ (ร้อยเอ็ด)
291 ม. 11 ถ.ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์ ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
043-523-126,01-975-4982 น.สพ.วสันต์ อิฐรัตน์



โรงพยาบาลสัตว์ บ้านสวนสัตว์ M.C.
7/24 ถ.มุขมนตรี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุดรธานี
042-241-819 น.สพ.ชลวิชขุ์ ยุวชิต



ลำพูสัตวแพทย์
201 หมู่ 3 ต.ลำพู อ.เมือง จ.หนองบัวลำพู
0-1380-3766



โรงพยาบาลสัตว์ สุนัข 24
528 ถ.หน้าโรงพยาบาลมหานคร อ.เมือง จ.นครราชสีมา
0-9583-1237 คุณสายรุ้ง ยาชัยยะ



คลีนิก หมอสัตว์
สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 อ.เมือง จ.นครราชสีมา
0-1266-2877 น.สพ.อภิชาติ สุวรรณชัยรบ



คลีนิกสัตวแพทย์ คลาสสิก
68 ถ.ธานี อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
0-4462-1124 นพ.อดิศร ชาติสุภาพ



สกลรักษาสัตว์
1555/1 ถ.สุขเกษม อ.เมือง จ.สกลนคร
0-9508-6608,0-4271-6588 น.สพ.ศุภวิทย์ พานชาบุษป์




พงษ์ธรสัตวแพทย์
191/52 ถ.อัตถบรรชา อ.เมือง จ.มหาสารคาม
0-4374-2309 น.สพ.พงษ์ธร สุวรรณธาดา



คลีนิก เพื่อนสัตวเลี้ยง (จ.สกลนคร)
1497/1 (ข้างวัดศรีโพนเมือง) ถ.กำจัดภัย อ.เมือง จ.สกลนคร
042-733-588, 06-861-2316 น.สพ.จตุรงค์ วงษ์บุญชา



คลีนิก ห้วยหลวงสัตวแพทย์และเพ็ทชอป
277/22 ถ.ทีมธนานนท์(เจริญศรีโรบินสัน) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
0-4234-4456,0-1871-5793 สพ.ญ.ทัดดาว ดลจิรพิสิทธิ์



คลีนิก นุชจรีย์สัตวแพทย์
5 มิตรภาพ 15 (การเคหะ) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
0-1879-8711 สพ.ญ.นุชรีย์ ศิริวิโรจน์



คลีนิก รักษ์สัตว์สวัสดี
1014/2 หมู่ 13 ถ.รัตนภิธาน ต.หอจอ อ.เมือง
09-428-4800 น.สพ.วิชิต ตั้งวงษ์พิบูลย์



คลีนิก ยันยางสัตวแพทย์
631 ถ.โพธิ์ศรี ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
0-4234-0788,0-9711-7501



โรงพยาบาลสัตว์ ร้อยเอ็ด
25/1 ถ.เสนาเริ่มคิด (ห้าแยกสายน้ำผึ้ง) อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
043-525-848 / 09-840-4508 น.สพ.ธีรภัทร์ หินชุย



คลีนิก สัตวแพทย์ (หนองคาย)
443/5 ม. 5 ถ.หนองคาย-อุดร ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย
0-1380-9864 น.สพ.สายใจ กองเพชร



เนติพงษ์สัตวแพทย์ 042-423-021
888/7 ถ.ประจักษ์(หน้าวัดโพธิ์ชัย) ม.10 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย
0-1661-0297,0-1670-4835 โทรสาร 0-4242-302น.สพ.เนติ จันทร์สนิทวงศ์



สระแก้วสัตวแพทย์
58/6 ม.13 ถ.ประจักร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย
0-4246-2163 น.สพ.บุญส่ง ชัยจันทร์



คลีนิก รักสัตว์เลี้ยง 081-661-6677
277/18 ถ.ประจักร์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี



สุชาติสัตวแพทย์
385/4-5 ถ.คูเมือง ต.ธาตุเชิงเนิน อ.เมือง จ.สกลนคร
0-4271-3993 น.สพ.สุชาติ



คลีนิก โพธิ์ศรีสัตวแพทย์
612/4-8 ถ.โพธิ์ศรี อ.เมือง จ.อุดรธานี
0-4224-3293 คุณอัษฐพล ปริยะวงศ์สกุล



วังสระพุงสัตวแพทย์
269 ม. 9 ถ.ศรีสงคราม อ.วังสระพุง จ.เลย
0-4284-1344 น.สพ.ชาญประเสริฐ พลชา



คลีนิก เพื่อนสัตว์เลี้ยง (จ.เลย)
176 ถ.เจริญวัฒน์ ต.กุดปล่อง อ.เมือง จ.เลย
0-4281-2045 คุณเสถียร บุษบก



วสันต์คลีนิกสัตว์
110/4 ถ.ชัยสุนทร อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
น.สพ.วสันต์ ป้อมเสมา



ขอนแก่นสัตวแพทย์
271/1 ถ.รองเมือง(ตรงข้ามวัดศรีนาล) อ.เมือง จ.ขอนแก่น 01-670-7247
0-4322-6249,-0-1670-7247 น.สพ.ธีรวัฒน์,คุณจีระศักดิ์ ถิรธนบูรณ์



คลีนิก คนรักสัตว์
288/7 ถ.ซุ้มค้า ต.สี่คิ้ว อ.สี่คิ้ว จ.นครราชสีมา
01-403-6842 สพ.ญ.อุไร พรหมดิเรก



ปฎิญญาสัตวแพทย์ (อุดรธานี)
244/2 ถ.โพธิ์ศรี อ.เมือง จ.อุดรธานี
0-4222-1609, 01-739-0937 คุณชูศักดิ์ เชาวน์วิวัฒน์



โรงพยาบาลสัตว์ อิทธิเวช
577 ถ.ยมราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา
044-245-219 คุณสุพันธ์ อิทธิวิศวกุล



สมศักดิ์สัตวแพทย์
240 ถ.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
0-4425-3535 คุณโกสุมภ์ ศรีนาค



เอกสัตวแพทย์
172 ถ.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
044-267-259 คุณเอกพล ตักยาธิดม



เอส แอนด์ พี รักษาสัตว์
545/152 ถ.ริมคลองสมถวิล ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม
06-634-3803,06-642-0208 คุณนพดล บุตรไทย



โรงพยาบาลสัตว์ นครราชสีมา
ตรงข้ามโรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถ.สุรณารายณ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
01-266-2877 คุณอภิชาติ สุวรรณชัยรบ



คลีนิก สัตว์เลี้ยงโคราช
917/10 ถ.ช้างเผือก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
044-342-739



โรงพยาบาลสัตว์ มุกดาหาร
45/1 ถ.พิทักษ์พนมเขต ต.มุกดาหาร อ.เมือง
042-630-694,01-372-8162



โรงพยาบาลสัตว์ ศิริรัตน์
97/5 ถ.เดชอุดม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
081-593-9875 คุณสิริรัตน์ สุวรรณรงค์



ร้อยเอ็ดเพ็ทช็อป
57/5 ถ.ปัทมานนท์ ซ.3 ตลาดหนองแคน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
09-840-4508



โรงพยาบาลสัตว์ วศินสัตวแพทย์
93/1 ถ.ชวาลาใน ต.ในเมือง อ.ในเมือง
01-753-8101,045-256-190 น.สพ.วศิน โชติวนิช



สันติพัฒน์ เพ็ท เซ็นเตอร์
89 ถ.มิตรภาพ ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย โทร.06-630-3567
01-717-0373/06-630-3567 น.สพ.จงเจริญ มากสุวรรณ



โรงพยาบาลสัตว์ เวชพงษ์
74/3-4 ถ.ศรีสุข ต.หมากแข้ง อ.เมือง
042-327-102



คลีนิก รัชฎา สัตวแพทย์
702/2 ม.1 ถ.สุรนารายณ์ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง
044-243-363



โรงพยาบาลสัตว์ ศรีนคร
40/8-10 ถ.โพศรี อ.เมือง จ.อุดรธานี
0-9514-1620



คลีนิก เพื่อนสัตว์ (นางรอง)
541/1 ถ.ประจันตเขต ต.นางรอง อ.นางรอง
09-156-0874



คลังเกษตรสัตวแพทย์
778/4 ถ.ราชการรถไฟ 4 ต.เมืองใต้ อ.เมืองศรีสะเกษ
045-612-591,01-321-5035



ทวีชัยสัตวแพทย์
35/3-4 ถ.ดำรงวิมลคุณ ต.ในเมือง อ.เมือง
01-282-9044, น.สพ.ทวีชัย นาเมืองรักษ์



คลีนิก บ้านสัตว์เลี้ยง
1/32-33 ถ.ธานี ต.ในเมือง อ.เมือง
01-955-0811, น.สพ.เลอเกียรติ นิยมทอง



สุคนธา สัตวแพทย์
1ซ.ศศิวงศ์ 1 ถ.สมุทรศักดารักษ์ ต.ศรีบุญเรือง อ.เมือง
042-632-423,09-892-7122 สพ.ญ.สุคนธา เหมะธุลิน



บ้านหมารักษาสัตว์
888/2 (การเคหะฯ) ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง
044-298-432, 09-845-2891 นันท์นภัส ศรีนาค



ธนวุฒิสัตวแพทย์
34/2 ถ.พิชิตรังสรรค์ ต.ในเมือง อ.เมือง
042-245-575 ร.อ.ธนาวุฒิ จิรมนัสนาคร





ชัยภูมิสัตวแพทย์
261/9-10 ถ.โนนไฮ-เมืองเก่า ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ
044-812-896 น.สพ.ธเนศ โชติวนิช



คลีนิก บ้านสัตว์เลี้ยง (ชัยภูมิ)
107/330 ก. ถ.โนนม่วง ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ
044-830-384 นางสาวสุนันทา ยธิกุล



ยโสธร รักษาสัตว์
7 ถ.ร่วมใจ ต.ในเมือง อ.เมือง
045-714-290 สพ.ญ.ปทุมมาศ แสงสระคู



วารินสัตวแพทย์
41/3 ถ.ศรีสะเกษ ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ
09-7200-789,045-321-625 ดร.สพ.ญ.ณิชารัตน์ สวาสดิพันธ์



โรงพยาบาลสัตว์ ปากช่องเฟรนด์ แอนด์ ฟาร์ม
830/11 หน้าที่ว่าการอำเภอปากช่อง ถ.มิตรภาพ อ.ปากช่อง
044-316-212,09-865-8865 น.สพ.วัชรนิทร์ หินอ่อน




ปริญญาสัตวแพทย์
68 สี่แยกวัดบูรพ์ ถ.กุดั่น ต.ในเมือง อ.เมือง
044-244-554, 06-260-0478 น.สพ.สถาพร อันอามาตย์



คลีนิก สัตวแพทย์ (หมอมันทนา)
481 ถ.พิชิตรังสรรค์ ต.ในเมือง อ.เมือง
045-261-071,01-967-2780 สพ.ญ.นันทนา เกรียงธีรศร



โรงพยาบาลสัตว์ เพ็ทการ์เด้น
81 ถ.มุขมนตรี ต.ในเมือง อ.เมือง
044-263-76 สพ.ญ. ชัชชญา วิมลใย



โรงพยาบาลสัตว์ วุฒิตรา
252/3 ถ.พิชิตรังสรรค์(ตรงข้ามสหกรณ์ออมทรัพย์ครู) ต.ในเมือง อ.เมือง
045-265-855,01-545-2544 น.สพ.วราวุฒิ เจริญรื่น



ขวัญเมืองสัตวแพทย์
81/14 ม.9 ถ.นิปโย ต.พังโคน อ.เมือง
087-230-7042 น.สพ.ดุสิต เทอดวิชิต



คลีนิก บ้านหมา-บ้านแมว (โคราช)
167/1 ถ.พิบูลย์ละเอียด ต.ในเมือง อ.เมือง
044-273-163 สพ.ญ.วลัยลักษณ์ นาดี



คลีนิก บ้านสัตว์เลี้ยง (อุดรธานี)
455/18 ถ.นิตะโย ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี
042-223-919 สพ.ญ.จันทร์เพ็ญ แสงบัว



วุฒิชัยรักษาสัตว์
100/4-5 ถ.สุรินทร์-ช่องจอม ต.กังแอน อ.ปราสาท
081-442-9516 น.สพ.วุฒิชัย สุขนึก



กาญจนาสัตวแพทย์
335 ม.2 ถ.สุขาภิบาล 1 ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์
081-544-7387 สพ.ญ.กาญจนา พันทาอามาตย์



โรงพยาบาลสัตว์ ไชยณรงค์
115 ถ.ไชยณรงค์ ต.ในเมือง อ.เมือง
081-869-6189 สพ.ญ.พรเพ็ญ ไตรบัญญัติกุล



ณรงค์สัตวแพทย์
384/7-8 ถ.มิตรภาพ ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง
081-590-0779 น.สพ.ณรงค์ศักดิ์ รุ่งเลิศเกรียงไกร



คลีนิก บ้านรักษาสัตว์ จ.ลำปาง
43/20 ถ.ท่าคราวน้อย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง
054-311-110,04-040-8630 น.สพ.พงษ์ประสิทธิ์ พงษ์พิจิตร



คลีนิกสัตวแพทย์ ชุมพล (สระบุรี)
55/10 ถ.เทศบาล ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี
036-314-207,01-994-7871 น.สพ.ชุมพล เอื้อจิระพงษ์พันธ์



คลีนิก ชัยมงคล 01-851-2757
30 ถ.สุดบรรทัด ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี



สิงห์บุรีสัตวแพทย์
ลานจอดรถตรงข้ามลานทองห้างไชยแสง ถนนขุนสรรค์ อำเภอเมือง จ.สิงห์บุรี
01-936-1315,01-820-4374 น.สพ.ปิยวิทย์ ก่อกลาง



คลีนิกสัตวแพทย์ สระบุรี 036-221-139
8 ถ.พิชัย ซอย 6 อ.เมือง จ.สระบุรี
036-221-139 น.สพ.ถวิล ชมชื่นกลิ่น


โรงพยาบาลสัตว์ กรุงศรี (อยุธยา)
1/3 สามแยกสาย 1 คลองมะขามเรียง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา
035-242-820 น.สพ.ไพรัช รุ่งอุทัย



คลีนิกสัตวแพทย์ นานา
382/20 (ตรงข้ามไปรษณีย์เสนา) ถ.ศรีเสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
0-1372-6850



โรงพยาบาลสัตว์ ลพบุรี
363 ห้าแยกสะพาน 33 ถ.นเรศวร ต.ทะเลชุปศร อ.เมือง จ.ลพบุรี 036-421-351
0-3641-3525,0-3642-1351 น.สพ.ปกรณ์ โง้วมณี



P.E.T. CLINIC
2/7 ถ.เทศบาล 6 ต.บางแก้ว อ.เมือง
0-3561-4194 น.สพ.ดนัย สุมานิก



ละโว้สัตวแพทย์
87/18 หมู่ 4 ต.ถนนใหญ่ อ.เมือง จ.ลพบุรี
036-424-492,036-621-332 น.สพ.ชุมพล-คุณรัตนา บุญรอด



พิชัยสัตวแพทย์
2/1-3 ถ.รามเดโช อ.เมือง จ.ลพบุรี
036-610-089



ชัยนาทสัตวแพทย์
325/2-3 ถ.ชัยนาท - สุพรรณบุรี ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท 17000
056-416-406 น.สพ.ศักดิ์ชัย คงสมบัติ



คลีนิก สัตว์ 4 ขา
817 ถ.รัตนโกสินทร์ 200ปี ต.บางพุทธา อ.เมือง
01-718-4622,036-524-635 ส.พญ.วราพร บุญญานุสนธิ



นารายณ์สัตวแพทย์
155 ถ.นารายณ์มหาราช ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง
036-412-650,01-572-4150 น.สพ.สมศักดิ์ นาคสมบูรณ์



เอื้อมพรรักษาสัตว์
9/16 ต.ศาลาแดง อ.เมือง
035-615-905,04-710-4541 คุณเอื้อมพร ทองเสริม



สระบุรีสัตวแพทย์
303/43 ม.3 ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก
09-742-684 น.สพ.ประพันธ์ พวยอ้วน



กิตติศักดิ์ คลีนิก (อยุธยา)
7/3 ม.1 ถ.จักรพรรดิ์ ต.ประตูชัย อ.เมือง
035-245-0768,01-804-5808



คลีนิก อินทร์บุรีสัตวแพทย์
258 ม.6 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี
09-890-5237



โรงพยาบาลสัตว์ สระบุรี
591/20 ถ.พหลโยธิน ต.ปากเพรียว อ.เมือง
036-317-878,01-207-0434 คุณวรนุช / น.สพ.คัมภีร์ พัฒนะธนัง



โรงพยาบาลสัตว์ อยุธยา
19/11 ถ.อู่ทอง ต.หอรัตนตรัย อ.พระนครศรีอยุธยา
035-252-259,035-328-222,01-207-0434 คุณวรนุช / น.สพ.คัมภีร์ พัฒนะธนัง



The Pet Shop Boy Clinic
19/32-33 ม.4 ต.คานหาม อ.อุทัย
035-332-246-7



คลินิค ลำนารายณ์สัตวแพทย์
2-3 ม.3 ถ.คชเสนีย์ ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล
036-461-046,630-606, 01-496-7799 น.สพ.กำพล ศรีกิติกุลชัย




ศรีเสนารักษาสัตว์
23/21 ม.2 ต.สามกอ อ.เสนา
053-203-209 สพ.ญ.กาญจนา บุญชัยศรี



อุทัยธานีสัตวแพทย์
56/11-12 ถ.ศรีอุทัย ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง
056-525-06 น.สพ.ศักดิ์ชาย คงสมบัติ



คลีนิก บ้านรักสัตว์
33/102 ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง
089-229-261 น.สพ.อภิชาติ เมฆสุวรรณ



โรงพยาบาลสัตว์ บางปะอิน
44/64 ต.บางเลน อ.บางประอิน
089-111-3015 น.สพ.ชัยวิทย์



คลีนิก สัตวแพทย์ (หมอเกียรติ)
26 ซ.เทวัญ 3 ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง
09-272-0797-7 น.สพ.เกียรติ เลิศชนะชมภู



โรงพยาบาลสัตว์ เล็ก
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่



คลีนิก เพื่อนสัตว์เลี้ยง (นครสวรรค์)
205/2 ถ.สวรรค์วีถี ต.ปากน้ำโพธิ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์
056-311-093,0-1605-3295 น.สพ.กวิน วงษ์หงษ์



เชียงใหม่ยาสัตว์
ศูนย์การค้ามีโชคพลาซ่า 206/30 ม.6 ต.ฟ้าฮ่าม
053-248-468 น.สพ.ชัยสน ศรีสุข



สุพจน์สัตวแพทย์
75/11-12 ถ.ศรีธรรมไตรปิฎก อ.เมือง จ.พิษณุโลก
055-219-525,01-972-7271 น.สพ.สุพจน์ ธนะชัย



คลีนิก รักษาสัตว์เอ็น.ที.
34 ม.3 ถ.เชียงใหม่-แม่โจ้ ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่
053-853-063,01-662-1486 น.สพ.สยาม หนูปัทยา



นครสวรรค์สัตวแพทย์
20/45 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพธิ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์
056-314-321 สพ.ญ.จุรี สีนวล



ร้าน เกษตรมั่นคง
194 หมู่ 4 ตรงข้ามไปรษณีย์แม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
053-498-311,01-568-4303 น.สพ.เกรียงไกร โตธิรกุล



โรงพยาบาลสัตว์ เพื่อพูน
242 ถนนวัวลาย ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
0-5320-0537,โทรสาร 053-200-534 น.สพ.มะนะชาติ เจนเจริญ



ชุมพลสัตวแพทย์
146/3 ถ.อินใจมี ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
055-413-398,09-960-6314 น.สพ.ชุมพล อุโคตร



โรงพยาบาลสัตว์ เลี้ยงหมออานนท์
20/3 หมู่ 14 ถนนสันโค้งหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย
53-718-860 น.สพ.อานนท์ ชุมคำลือ



คลีนิก นายสัตวแพทย์สมชาย
595 ถ.พหลโยธิน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
56-262-491 น.สพ.สมชาย กลัดสอาด



โรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์สุขภาพสัตว์เลี้ยง
209/45 ถนนสวรรค์วิถี (ข้าง รพ.ร่มฉัตร) ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์
056-312-152,312-158 น.สพ.สุธี งามวัฒนาวงษ์



คลีนิก รักษาสัตว์สวนดอกสัตวแพทย์
31/3 ถนนสนามบินเก่า ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
053-808-224 น.สพ.สมพร พรวิเศษศิริกุล



คลีนิก โฮ่งโฮ่งเหมียว โทร.053-266-343
332/12 หมู่ 2 ถ.เชียงใหม่-แม่โจ้ ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
053-266-343 สพ.ญ.ศุวศนา แสงศักดา



บริษัท โรงพยาบาลสัตว์สหมิตร จำกัด 01-881-4424
109/5 ถนนสหมิตร อ.เมือง
053-716-840 ,716-523,01-289-4464 น.สพ.สุรศํกดิ์ เฟื่องวัฒนาพาณิช



โรงพยาบาลสัตว์ ลำปาง
359 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง
054-317-420 น.สพ.อดิศร วงศ์สิมาสวัสดิ์



ศูนย์พยาบาลสัตว์เชียงใหม่
19 ถ.ศิริมังคลาจารย์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
0-5322-2130,0-5321-5607,0-1904-4670 น.สพ.วิษณุ อมรเทพรักษ์



คลีนิก แม่ริมรักษาสัตว์
255 หมู่ 1 ถ.เชียงใหม่ - ฝาง ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
0-5337-2390 น.สพ.ประทวน ยอดแก้ว



คลีนิก บ้านรักสัตว์ (เชียงราย)
1736/5 ม.5 ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย
089-126-9417 สพ.ญ.จรินทิพย์ ณ ลำปาง



โรงพยาบาลสัตว์ พิษณุโลก
628 ถ.พิชัยสงคราม อ.เมือง จ.พิษณุโลก
055-304-330/055-304-331 น.สพ.สุรเดช ประทีปจรัส



โรงพยาบาลสัตว์ เขลางค์
361/23-24 ถ.ฉัตรไชย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง
0-5432-5409,0-1594-4576 น.สพ.ณรงค์ชัย นครังกุล



โรงพยาบาลสัตว์ เชียงใหม่ โชตนา
250/17 ถ.เชียงใหม่ - ลำปาง หน้าเทสโก้โลตัสคำเที่ยง ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่
053-412-794/235-005/235-006 น.สพ.พงศ์เผ่า หอสถิตย์ธรรม



บ้านหมากะแมว
เลขที่ 255/12 ถ.มหิดล ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่
0-5320-4215 , 0-5320-4217,FAX.053-204-215สพ.ญ.อรอุษา สุวิถีชน



คลีนิกสัตวแพทย์ อธิศักดิ์
399/12-13 ซ.วรวงศ์ประภา ถ.ฉัตรไชย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง
054-352-448,06-689-1162 คุณอธิศักดิ์ เหล่าไทย



คลีนิก วัดใหญ่สัตวแพทย์
36/37 ถ.เอกกาทศรถ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
055-213-564 คุณอัชฌา รัตนาพันธ์



คลีนิก เพื่อนสัตว์ (จ.แพร่)
2/48-49 ถ.ยันตรกิจโกศล (ถ.ภูเก็ต) อ.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่
054-627-857



คลีนิก การุณสัตวแพทย์
14/1 หมู่ 1 ถ.เชียงใหม่ - สันกำแพง ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
081-783-636 สพ.ญ.ศศิธร ชนะชัย



คลีนิก รักสัตว์
196/5 หมู่ที่ 2 ถ.เชียงใหม่ - ดอยสะเก็ด ต.สันพระเนตร อ.สันทราย
053-380-537 น.สพ.พรศักดิ์ ศิษย์ชัยชนะ



โรงพยาบาลสัตว์บ้านหมากะแมว
เลขที่ 255/10-12 ถ.มหิดล ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่
0-5320-4215 , 0-5320-4217 สพ.ญ.อรอุษา สุวิถีชน



คลีนิก ฅ. ฅนรักษ์สัตว์
ห้อง 219 ตลาด JJ Hobby Market เลขที่ 46 ถ.อัษฎาธร ต.ป่าตัน
089-950-2288,089-838-3377 คุณเฟิ้ส FAX.05สพ.ญ.กรรัตน์ วงษ์สมบูรณ์



โรงพยาบาลสัตว์ เชียงใหม่-แม่ริม
84/17-18 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.แม่ริม
053-408-368 น.สพ.สมพร พรวิเศษศิริกุล



คลีนิก หมายิ้ม
123 ถ.พหลโยธิน ต.แม่สาย อ.แม่สาย
089-108-7309,053-640-371 น.ส.วนิดา วงศ์รัตนมัจฉา



ช้างเผือกสัตวแพทย์
160/2 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง
053-213-270,09-191-8722 น.สพ.ผดุงชัย ท้าวเขื่อน



คลีนิก รักษาสัตว์สันทราย
190/11 ม.5 ถ.เชียงใหม่-พร้าว ต.หนองหาร อ.สันทราย
089-635-9274 น.สพ.ศักดิอิทธิ์ ศรีนวลไชย



คลีนิก เพื่อนแสนรู้
197/7 ม.26 ถ.พหลโยธิน ต.รอบเวียง อ.เมือง
053-757-005, 06-731-6787 สพ.ญ.พจมาน โตบันลือภพ



คลีนิก สัตวแพทย์สายใหม่
107/4 ม.7 ม.วังบัวตอง ถ.เชียงใหม่-พร้าว ต.หนองจ๋อม อ.สันทราย
053-499-098,089-106-7143 คุณหมอ น.สพ.ณัฐพล เพ็ญประภัศร์



บริษัท อรุณสวัสดี
61/56 ถ.เวียงพิงค์ ต.ช้างคลาน อ.เมือง
053-201-1516 Fax.053-201516



รักษาสัตว์ เพ็ทโฮม
177/4 ม.4 ถ.พหลโยธิน ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย
053-988-590-1 สพ.ญ.สิรินรัตน์ ตั้งมาลา



คลีนิก บ้านสัตว์แสนรัก
140/4-5 ม.25 ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ ต.รอบเวียง อ.เมือง
053-746-468, 01-322-4466 นายชวรัตน์ นันทวาส



โรงพยาบาลสัตว์ หมอนุก
164-69 ถ.ช้างคลาน อ.เมือง
081-883-5430,081-855-1627 คุณสมศักดิ์ สพ.ญ.จุฑามาศ ศฤงคาร



ธนิดา สัตวแพทย์
ตลาดกลางธุรกิจชุมชน ถ.พหลโยธิน ต.ระแหง อ.เมือง
089-619-1576 สพ.ญ.ธนิดา วังดำ



คลีนิก สัตวแพทย์เพชรบูรณ์
13 ถ.มิตรบำรุง ต.ในเมือง อ.เมือง
056-722-851 สพ.ญ.นิตยา



คลีนิก เอเชีย เพ็ท
320/12 ถ.สวรรค์วิถี ต.นครสวรรค์ตก อ.เมือง
สพ.ญ.ขวัญรัก ปรีชาสัมมกุล



ต้นยางสัตวแพทย์
3/1 ม.1 ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี
01-595-76 สพ.ญ.พิมพ์ลดา อิงคนินันท์



เชียงใหม่-ลำพูน สัตวแพทย์
537/5 ถ.เชียงใหม่-ลำพูน ต.หนองหอย อ.เมือง
06-728-6700,06-614-6920 น.สพ.ขวัญชัย คนมี



โต้งสัตวแพทย์
85/2 ถ.ประชาอุทิศ ต.ในเมือง อ.เมือง
055-252-134,09-958-9187แฟกซ์ 055-252-134 น.สพ.วิวรรธน์ หนูบ้านยาง



คลีนิกสัตว์ แสนสุข
7/45 ถ.ประตูคลอง 2 ต.เวียง อ.เมือง
054-480-578 สพ.ญ.กรุณรัตน์ รูปกลม



นาทีทรัพย์ รักษาสัตว์
162/1 ถ.เชียงใหม่-ลำปาง ต.ป่าตัน อ.เมืองเชียงใหม่
053-212-300 น.สพ.กำพล เศรษฐ์วรกุล



โรงพยาบาลสัตว์ ฟ้าใส
115/6 ต.หนองป่าคลั่ง อ.เมือง
053-948-15 สพ.ญ.กรรณิการ์ พงษ์รูป



นวรัฐสัตวแพทย์
111 ถ.กองทราย ต.วัดเกตุ อ.เมือง
053-249-956,09-635-6744 น.สพ.เรวัต สุนทรวิทย์



ศรีพาณิชย์สัตวแพทย์
208/47 ถ.ศรีพาณิชย์ ต.แม่สอด อ.แม่สอด
055-532-794,06-936-2719 น.สพ.มนัส แตงอ่อน



สามชัยสัตวแพทย์
103-107 ถ.จอมพล ต.หนองหลวง อ.เมือง
01-886-5256 สพ.ญ.กมลวิภา เปรมปราชญ์



โรงพยาบาลสัตว์ สันทรายทอง
29/17 ม.6 ต.สันทรายน้อย อ.สันทรายทอง จ.เชียงใหม่
09-444-2624 สพ.ญ.ลัคนา



เพชรพัฒนาสัตวแพทย์
7/20 ถ.เทศบาลพัฒนา ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์
081-532-3221 หมอจักรพงศ์ น.สพ.จักรพงศ์ สมศักดิ์



โรงพยาบาลสัตว์ เชียงใหม่รักสัตว์
11/1 ม.4 ต.หนองป่าครั่ง อ.เมือง
053-247-959-60 น.สพ.พรศักดิ์ ศิษย์ชัยชนะ



คลีนิก บ้านเพื่อนสัตว์เลี้ยง
96/4 ถ.รักการดี ต.อุทัย อ.เมือง
053-571-199 น.สพ.อรรถพงษ์ โตประเสริฐ



คลีนิก สัตวแพทย์ (หมอนคร)
105 ถ.เกษมราษฎร์ ต.ท่าอิฐ อ.เมือง
089-856-6271 น.สพ.นคร สานิชวรรณ



คลีนิก สันติสัตวแพทย์ (สุพรรณบุรี)
202 (ตรงข้าม ร.ร.สุพรรณภูมิ) ถ.หมื่นหาญ ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
0-3555-1319 น.สพ.สันติ ประสิทธิ์ผล



มณฑาทิพย์ รักษาสัตว์
275/22 ถ.มาลัยแมน ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
035-546-648 คุณมณฑาทิพย์ รักพันธ์



คลีนิก รักสัตว์ (สุพรรณบุรี)
35/3 ถ.นางพิม ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 01-832-4223
0-3552-1466,0-1832-4223 น.สพ.แก้วขวัญ ปรักมะวงศ์



สุชีพสัตวแพทย์
41/14 ถ.เณรแก้ว ต.ท่ารหัส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
035-500-120 น.สพ.สุชีพ เทียนทอง



คลีนิก เพื่อนสัตว์เลี้ยง
225/36 ม.2 ต.สามชุก อ.สามชุก
01-695-1356 น.สพ.สุนทร แขวงจันทร์



สถานพยาบาลสัตว์โกมารภัจจ์
20/6 ถ.โกมารภัจจ์ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
076-236-078,0-1956-9189 น.สพ.มาโนช ยินดียม



โรงพยาบาลสัตว์ ตรัง
184/1-3 ถ.วิเศษกุล อ.เมือง จ.ตรัง
075-224-112,0-9645-3636 น.สพ.นรินทร์ ชินพิทักษ์วัฒนา



โรงพยาบาลสัตว์ เล็ก (เขารัง) 076-354-498
182/1 (ร้านรวมยาเภสัช) ถ.เยาวราช ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง
0-1891-1582,0-1892-4108,076-211-549 น.สพ.บุญชิต ศรีอร่าม



คลีนิกสัตว์ เมตตา (ภูเก็ต)
242/3 ถ.เยาวราช อ.เมือง จ.ภูเก็ต
076-237-385,FAX.076-237-385 สพ.ญ.สุจิตรา แซ่ตัน



หมอโจ้คลีนิกรักษาสัตว์
2/18-19 ถ.ราษฎรอุทิศ (ซ.ออมสิน) อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
077-205-08

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

กรุณา โทรตรวจสอบอีกครั้ง เนื่องจากคลินิกและโรงพยาบาลที่ระบุ ณ ที่นี้ บางแห่ง อาจจะไม่มีหมอที่ชำนาญเฉพาะทาง เพื่อความสะดวกของท่านเอง

คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ และ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก ของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ทั้ง 6 สถาบัน ได้แก่
1.โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เลขที่ 39 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

วันและเวลาทำการ :

จันทร์-ศุกร์ : เวลา 8.00 - 15.00 น.
เสาร์-อาทิตย์ และ วันหยุดราชการ : เวลา 9.00 - 11.00 น.

คลินิกฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
เบอร์โทรศัพท์

0-2218-9750-1

Website: http://www.vet.chula.ac.th/~sah/index.html

แผนที่ : http://www.vet.chula.ac.th/~sah/map.html


2. ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ให้บริการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการเกิดโรคในสัตว์น้ำทุกชนิด

รวมทั้งสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน

ในวันราชการตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.

* ให้บริการตรวจคุณภาพน้ำ ทั้งทางเคมีและฟิสิกส์
* ให้คำแนะนำในการใช้ยาและสารเคมี รวมทั้งวิธีป้องกันและควบคุมโรคของสัตว์น้ำ
* ให้บริการออกใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ
* ให้บริการเป็นที่พักรักษาสัตว์น้ำป่วย โดยเฉพาะสัตว์น้ำสวยงาม
* ให้บริการตรวจสัตว์น้ำนอกสถานที่โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนน อังรีดูนังต์
ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. (02) 252-9575, 218-9412
โทรสาร (02) 252-9575


3. หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

น.สพ.รชฎ ตันติเลิศเจริญ

เลขที่ 39 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02- 218 -9793
วันและเวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 8:30 - 17:00 น.

4. หน่วยสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

(บริเวณชั้นล่างของอาคารโรงพยาบาลสัตว์)

เลขที่ 50 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว

เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

วันและเวลาทำการ :

วันจันทร์ – วันพฤหัสบดี : เวลา 08.30 - 15.30 น.

เฉพาะวันศุกร์ : เวลา 08.30 - 11.00 น.

วันหยุดนักขัตฤกษ์

เช้า เวลา 8.30 - 11.00 น.

เบอร์โทรศัพท์

0-2942-8756-59 ต่อ 2118 (ในเวลาราชการ)
ต่อ 2155 (นอกวันเวลาราชกา่ร)

ต่อ 2118 ประชาสัมพันธ์

Website : http://hospital.vet.ku.ac.th

แผนที่ : http://hospital.vet.ku.ac.th/index_files/Page354.htm

5.หน่วยสัตว์น้ำ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

เลขที่ 50 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว

เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

เป็นหน่วยที่เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัย และรักษาปลา

ทางด้านอายุรกรรมและศัลยกรรม รวมถึงการตรวจคุณภาพน้ำ

หน่วยสัตว์น้ำได้เตรียมขยายงานโดยจะรับฝากสัตว์ไว้ดูแลเป็นสัตว์ป่วยใน

วันและเวลาทำการ

จันทร์ - พฤหัสบดี : เวลา 08.30 - 15.30 น.

ศุกร์ เวลา 08.30 - 11.00 น.

เบอร์โทรศัพท์

0-2942-8756-59 ต่อ 2118 (ในเวลาราชการ)
ต่อ 2155 (นอกวันเวลาราชกา่ร)

ต่อ 2118 ประชาสัมพันธ์

Website : http://hospital.vet.ku.ac.th

แผนที่ : http://hospital.vet.ku.ac.th/index_files/Page354.htm

6.หน่วยสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

7.วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

เลขที่ 1 หมู่ 6 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

วันและเวลาทำการ :

วันจันทร์ - วันพฤหัสบดี

เวลา 08.30 - 16.30 น. และ 17.00 - 20.00 น.

วันศุกร์ เวลา 08.30 - 12.00 น. และ 17.00 - 20.00 น.

วันเสาร์ - อาทิตย์ และ วันหยุดราชการ

เวลา 09.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 20.00 น.

เบอร์โทรศัพท์

034-351 901-3 ต่อ 201-2

โทรสาร 034-352041

แผนที่ : http://www.mormakaset.com/map.htm

8. โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เลขที่ 123 ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40002

ภายในมหาวิทยาลัย (ประตู ถนนมิตรภาพ)

วันและเวลาทำการ :

วันจันทร์ - ศุกร์ : เช้า 8.30-12.00 น.บ่าย 13.00-16.30 น.

คลินิกนอกเวลา วันจันทร์ - ศุกร์ : เวลา 17.00-20.00 น.

วันเสาร์-อาทิตย์ : เช้า : เวลา 9.00-12.00 น.

บ่าย : เวลา 13.00-16.00 น.

หยุด ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์

เบอร์โทรศัพท์ 043- 364 490, โทรสาร 043- 343 081

Website : http://vet.kku.ac.th/hospital/vethos.html

แผนที่ : http://vet.kku.ac.th/hospital/vh-map-huge.html

9. คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์

10.สถานบริการสุขภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถนนริมคลองชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

วันและเวลาทำการ : วันพุธ ทุกสัปดาห์

เบอร์โทรศัพท์ :

053-948 031, 948 033

Website : http://www.animalhealthvetmed.com

11.โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

เลขที่ 51 ถนนเชื่อมสัมพันธ์ แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพฯ 10530

เบอร์โทรศัพท์

02-988 3655 02-988 3666 ต่อ 147, 148, 246, 247
โทรสาร: 02-388 3655 ต่อ 247

แผนที่ http://www.mut.ac.th/thai/location/index.html


12.โรงพยาบาลสัตว์เพื่อการเรียนการสอน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

13. วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม

14. โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตวป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาเขตไทรโยค จ.กาญจนบุรี

เลขที่ 25/25 หมู่ 5 ถนนพุทธมลฑล สาย 4

ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมลฑล จังหวัดนครปฐม 73170

เบอร์โทรศัพท์

0-2441-5246

Website : http://www.vs.mahidol.ac.th/Hospital/hospitalthai.ht

กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล

-โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ (หมอหมาป่าและอาณาจักรสัตว์)
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ:

หมอเฉพาะทางเอ็กโซติกและสัตว์ป่า:

หมอแรนดอล์ฟ (หมอแก้ว) ลงตรวจเสาร์และอาทิตย์

หมอรัก ตามนัดหมาย

หมอเหนือ ลงตรวจทุกวัน เว้นวันเสาร์และอาทิตย์

หมอเยลลี่ (ศัลยกรรมสัตว์แปลก) ลงตรวจทุกวัน เว้นวันพุธและพฤหัสบดี

หมออ้น ลงตรวจทุกวัน เว้นวันศุกร์และเสาร์

หมอสัตว์เล็ก สุนัขและแมว : หมอเยลลี่ หมอแก้ว หมอบุ๊กบิ๊ก หมอเหนือ หมออ้น

เลขที่ 91/10 (ก่อนถึงห้าแยกวัชรพล ตรงข้ามร้านอาหารนาย ต. เนื้อตุ๋น)

ถนนวัชรพล (รามอินทรา 55)

ท่าแร้ง บางเขน

กรุงเทพ 10220
โทรศัพท์ 086-336-4462

โทรสาร 02-968-9166
วันและเวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 8.30 -24.00 น.



- คลินิกนกและสัตว์ป่า

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

ถนนศรีอยุธยา ซอย 3

อยู่ระหว่าง โรงพยาบาลพญาไทย 1 และ โรงพยาบาลเดชา

โทรศัพท์ 02-245- 4946
วันและเวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 17.00- 19.00 น.

เสาร์ - อาทิตย์ 10.00-16.00 น.

- คลินิกรักษาสัตว์ด้วยใจ

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.จริยา (หมอฮั๊ว)

รักษาสัตว์ทุกชนิด

ตั้งอยู่ในร้านดี ด็อก หน้าหมู่บ้านวนาวิลล์

เพียง 700 เมตร จาก ถ.เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา


- คลินิกสัตวแพทย์คลองสี่

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.สุภาภรณ์ อุทุมพร

เลขที่ 2/42-43 (เยื้องหมู่บ้านอยู่เจริญ 2) ม.5

ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130

โทรศัพท์ : 083 - 994 8880

วันและเวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 8:30- 20:30 น.

- โรงพยาบาลสัตว์ สุวรรณชาด (ในโครงการพัฒนาส่วนพระองค์)
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.วิศิษฎ์ อาศัยธรรมกุล

เลขที่ 33/39 หมู่ 3 ถนนรามคำแหง กรุงเทพ 10240
โทรศัพท์ 02-729 - 5706-7

โทรสาร 02-729 - 5709
วันและเวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 9.00 -21.00 น.

- สัตวแพทย์ 4 โพลีคลินิก (Vet4 Polyclinic)

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล
เลขที่ 5 - 5/1 ถนน เทศบาลรังสฤษดิ์เหนือ
ประชานิเวศน์ 1 จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 0-2953-8085-6, 0-2591-3995,0-2591-3995
โทรสาร 0-2954-3597

Website : http://www.vet4polyclinic.com/contact_us.htm


- คลินิกพายุรักษาสัตว์
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.เกษตร สุเตชะ และ น.สพ.พายุ ศรีสุพร
เลขที่ 1470 ซอยอินทามาระ 26 ถนนสุทธิสาร เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10320
โทรศัพท์ 02-693- 7972
วันและเวลาทำการ : จันทร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 - 21.00 น.


- ซีคอน เพ็ท ปาร์ค

ตอนนี้ทางซีคอน เพ็ท พาร์ค คลินิก ได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สถานที่ตั้ง

เพื่อการบริการให้ดียิ่งขึ้นซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการตกแต่งสถานที่ใหม่อยู่

แต่เพื่อเป็นการไม่ให้ผู้ใช้บริการสับสนและเตรียมตัวพบกันที่ใหม่

จึงมาส่งแผนที่ให้ดูกันก่อนเป็นออเดิฟจ๊ะ แต่ตอนนี้ยังคงเปิดให้บริการอยู่ที่เดิม

ทุกวันตั้งเเต่เวลา 10.00-20.00 น. ส่วนแผนที่มีให้ดูกันในหัวข้อ แผนที่ ได้เลยเจ้าคะ

หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ 083 064 1980 เหมือนเดิม เเต่ไม่ 24 ชม.นะจ๊ะ

แผนที่ http://seaconpetclinic.makewebez.com/index.php?c_id=0&ct_id=1091&type=customize


- ลาดพร้าว 9 สัตวแพทย์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ (หมอกอล์ฟ)

: สพ.ญ.นัจพร แจ่มจันท์ (หมอออย)

: น.สพ. เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล (หมออ้อย)

ติดถนนใหญ่ ปากซอยลาดพร้าว 9
ห่างจากคาร์ฟูลาดพร้าว 20 เมตร
(จอดรถคาร์ฟูแล้วเดินมาได้)

Website : http://www.lardprao9vet.com

โทรศัพท์ : 02-513-5007
โทรมือถือ : 087-696-8338

วันและเวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 10.00-21.00 น.


- คลินิกสัตว์เลี้ยงจิ๋ว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

เลขที่ 205/5-8 ซอยทองหล่อ (ระหว่างซอย 9 กับ 11)

ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

โทรศัพท์ 02- 712 6301-4

โทรสาร 02-712 5273 หรือ 02-712 9522

วันและเวลาทำการ: เปิดทำการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

แผนที่ http://www.pethospital.co.th

- โรงพยาบาลสัตว์รัตนโกสินทร์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : อ.น.สพ.วุฒิวงศ์ ธีรพันธ์ และ น.สพ.สิรันดร์ ถึกอ่ำ
เลขที่ 18/279-280 ซอยวัชรพล 14 หน้าหมู่บ้านคาซาลีน่า 5

(ใกล้โรงเรียนรัตนโกสินทร์) บางเขน กรุงเทพฯ


เบอร์โทรศัพท์ 02-994-0027,02-153-2049,081-454-8123
E-mail : rksanimalhospital@gmail.com

วันและเวลาทำการ : 9.00-21.00 น. ทุกวัน


- โรงพยาบาลสัตว์มัยลาภ
เลขที่ 15/15 ม.9 ซ.มัยลาภ ถ.รามอินทรา

แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10230
โทรศัพท์ 02-860-1158 กด 4
วันและเวลาทำการ : ทุกวัน 9.00 - 21.00 น.

- เอ็น.เค. สัตวแพทย์
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.นำดี แซ่เฮง
เลขที่ 96/240 ม.7 ถ.ท่าข้าม แสมดำ
บางขุนเทียน กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 02- 895 -6247
วันและเวลาทำการ : (กรุณาโทรนัดล่วงหน้า)

จันทร์-ศุกร์ 18.30- 21.00 น.

เสาร์-อาทิตย์ 9.00 -21.00 น.


- โรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา
เลขที่ 49/22-23 หมู่ 7 ถ.คลองหลวง-บางขันธ์
ต.คลองสอง อ. คลองหลวง (ตลาดไทย) จ. ปทุมธานี
โทรศัพท์ 02- 516-1852
วันและเวลาทำการ : ทุกวัน 09.00- 21.00 น.

- โรงพยาบาลสัตว์บางนา
เลขที่ 232/2 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260
โทรศัพท์ 02- 744-1899, 02- 744-1663
วันและเวลาทำการ : 24 ชั่วโมง ทุกวัน

- กรุณาโทรนัดล่วงหน้า

หมอเฉพาะทางเข้าตรวจ เฉพาะ วันพฤหัสบดี เวลา 17.00 -21.00 น.


-เวท คอนเนอร์ รักษาสัตว์
อยู่ในตลาดแฮปปี้แลนด์ บางกะปิ กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 02- 734 3887
วันและเวลาทำการ : ทุกวัน 9.00 - 22.00 น.


- ชวนชื่นสัตวแพทย์
เลขที่ 47/56 หมู่ 1 ถ.สุขาภิบาล 3 กรุงเทพฯ

โทรศัพท์ 02- 373-1848 , 02- 373-1810
วันและเวลาทำการ : ทุกวัน 9.00 - 21.00 น.


- คลินิกรักษาสัตว์เกษสรี

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.สุพจน์ พิบูรณ์รัตนาวงศ์
เลขที่ 25/26 หมู่บ้านเกษสรี 2 ซอยรามคำแหง 124

-ถนนสุขาภิบาล 3 กรุงเทพ 10240
โทรศัพท์ 02- 373 4712
วันและเวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ 10.00 - 21.oo น.
เสาร์-อาทิตย์ 9.00 - 21.00 น.



- โรงพยาบาลสัตว์บางกรวย

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.อรวรรณ คำเอี่ยม

เลขที่ 64/87-89 ม.6 ใกล้ซอยทวีโรจน์ ถ.บางกรวย-ไทรน้อย
ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 11130

โทรศัพท์ : 02- 883 6259

วันและเวลาทำการ : กรุณาโทรนัดล่วงหน้า

- วัชรพลรักษาสัตว์
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.จินดา ศุภชวาล
เยื้องหมู่บ้านคาซ่า วิลล์ 18/259 ซ.วัชรพล ถ.วัชรพล-สายไหม
แขวงคลองถนน เขตสายไหม กทม. 10220
โทรศัพท์ 02 - 994-1259
เครดิต http://www.rabbitcafe.net

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จ.นครราชสีมา

1. โรงพยาบาลสัตว์ปากช่อง

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.วัชรินทร์ หินอ่อน

: สพ.ญ.สุณิสา เอื้อเฟื้อกลาง
เลขที่ 830/11 หน้าที่ว่าการอำเภอปากช่อง
ถ.มิตรภาพ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130
โทรศัพท์ 044-316-212, 089-865-8865

โทรสาร 044-314-594

website : www.pakchongpet.com
วันและเวลาทำการ : วันจันทร์ - วันเสาร์ 08.00 - 20.00 น.

หยุดวันอาทิตย์

2. คลินิก กู๊ดดี้ ด๊อก

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.อภิเษก คงศิลา

เลขที่ 1285 หมู่ 13 ถนนรัตนภิธาน ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30310

โทรศัพท์ 044-324-009, 089-635-2525

วันและเวลาทำการ : เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ 09.00 - 21.00 น.



จ.อุบลราชธานี

1. คลินิก วศินสัตวแพทย์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.อภิญญา ทองแย้ม

เลขที่ 141/3 (หน้าโรงหนังเนวาด้า)

ถ.สกลมาร์ค อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
โทรศัพท์ 045-256-190, 089-947-0858
วันและเวลาเปิดทำการ : ทุกวัน 09.00 - 21.00 น.

จ.มหาสารคาม

1. คลินิก พงษ์ธรสัตวแพทย์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : อ.น.สพ.พงษ์ธร สุวรรณธาดา

191/52 ถ.อัตถบรรชา อ.เมือง จ.มหาสารคาม
โทรศัพท์ 043-742309


จ.ขอนแก่น

1.คลินิก นอร์ธอีสสัตวแพทย์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : อ.สพ.ญ.ดร.กชกร ดิเรกศิลป์

เลขที่ 433/7 ถ. มิตรภาพ

ต. ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น


ภาคตะวันออก

จ.ชลบุรี

คลีนิคหมอสวนสัตว์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.ดาริกา ทองไทยนันท์
117 ถ.สุขุมวิท ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี
โทรศัพท์ 083 - 017 9767
วันและเวลาทำการ : อังคาร-เสาร์ : 17.30-20.30น.
อาทิตย์ : 10.30-20.30น.


คลินิกสัตวแพทย์ 55

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.เดชา พิทักษ์กิ่งทอง
เลขที่ 65 ถ.เจิมจอมพล ต.ศรีราชา
อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โทรศัพท์ 038- 770-192
วันและเวลาทำการ : อังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.00-20.00 น.

(หยุดทุกวันจันทร์)


ภาคเหนือ



จ.ลำปาง

คลินิกเพื่อนรัก

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.สกุลแก้ว ยาคำ

เลขที่ 111/5 ถ.พระเจ้าทันใจ ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง

โทรศัพท์ 054- 312 258

วันและเวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 07.30- 21.00 น.



คลินิกบ้านรักษาสัตว์
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : นายสัตวแพทย์พงษ์ประสิทธิ์ พงษ์พิจิตร
เลขที่ 43/20 ถ.ท่าคราวน้อย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง 52100
โทร. 054-311-110, 08-4040-8630
วันเวลาทำการ จันทร์ – เสาร์ เวลา 09.00 – 19.30 น.



จ.เชียงใหม่
โรงพยาบาลสัตว์ เชียงใหม่รักสัตว์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.วีณา ธงซิว
เลขที่ 11/1 ม.4 ต.หนองป่าครั่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์ 053-247-959-60


ภาคกลาง



จ.นครสวรรค์

คลินิกสัตว์เลี้ยงเอเชียเพ็ท

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ.ขวัญรัก ปรีชาสัมมกุล
320/12 ถ.พหลโยธิน(เอเชีย)
ใกล้บิ๊กซีนครสวรรค์ ต.นครสวรรค์ตก
อ.เมือง จ.นครสวรรค์
โทรศัพท์ 056-371-988, 086-1199-349
วันและเวลาทำการ : จันทร์ - เสาร์ : 9.00-20.00 น. ปิดวันอาทิตย์

ภาคตะวันตก

จ.ราชบุรี

โรงพยาบาลสัตว์เมืองโอ่ง

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.วิรุตม์ โชคธนานุกูล
เลขที่ 96,96/4 ถ.รถไฟ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000

โทรศัพท์ 032-315-037,081-546-0682

วันและเวลาทำการ : เปิดทำการทุกวัน เวลา 9.00-20.00 น

ภาคใต้

จ.นครศรีธรรมราช

คลินิก ทุ่งสงรักษ์สัตว์

สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : สพ.ญ. อรพรรณ อาจคำภา

เลขที่ 151 ถ.ทุ่งสง-สุราษฎร์ (ตรงข้ามโรงเรียนสตรีทุ่งสง)

ต. ปากแพรก อ. ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 80110
โทรศัพท์ 084-121 3654
วันและเวลาทำการ : จันทร์ถึงศุกร์ 17.00 - 20.00 น.

เสาร์และอาทิตย์ 10.00 - 20.00 น.

จ.สุราษฏร์ธานี
สัตวแพทย์ผู้ตรวจ : น.สพ.พุทธิพงศ์ ขาวนวล
เลขที่ 18/31 หมู่บ้านมุกธานี 1 ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 84000
โทรศัพท์ 077-222253. 086-5707071
วันและเวลาทำการ เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.30-20.30 น. ฉุกเฉิน 24 ชม.

เครดิต http://www.rabbitcafe.net