วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สายพันธุ์กระต่าย

**ประวัติความเป็นมา**
เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 1880 หรือราว พ.ศ. 2423 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ปรากฏว่ามีกระต่ายสายพันธุ์ดัทช์ได้ให้กำเนิดลูกหลากหลายครอกที่มี สีขาวแต่มีลายสีต่างๆ ไม่เป็นสีขาวทั้งตัว มีตาสีแดง มีลักษณะลำตัวที่เล็ก สั้นกระทัดรัด มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.6 ถึง 2 กิโลกรัม แต่มีขนที่นุ่มลื่นสวยงาม ซึ่งเป็นที่มาของกระต่ายโปลิช (Polish) แม้ว่ากระต่ายที่ได้จะยังมีเลือดที่ไม่นิ่ง แต่การผสมแบบในสายเลือด (Line Breeding) ทำให้ได้กระต่ายในรุ่นต่อมาที่มีสีขาวมากขึ้น จนกระทั่งได้กระต่ายสีขาวล้วน ตาสีทับทิม (Ruby-Eyed White) ที่เป็นต้นกำเนิดของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ในปัจจุบัน
ด้วยแรงบันดาลใจจากการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์โปลิช มายังสหราชอาณาจักรอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1884 หรือ พ.ศ. 2427 กระต่ายพันธุ์โปลิชจากประเทศเยอรมัน ได้ถูกนำมาผสมข้ามพันธุ์กับกระต่ายป่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดเล็กโดยบังเอิญ จนทำให้เกิดการถ่ายทอดยีนส์แคระลงในกระต่ายพันธุ์โปลิช ทำให้มีขนาดเล็กและมีลำตัวที่สั้นลง ในเวลานั้นกระต่ายแคระ จึงมีแต่สีขาวล้วนและมีตาสีทับทิม
ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระต่ายแคระ สีขาวตาฟ้า (Blue-Eyed White) ได้ถือกำเนิดขึ้นในจักรวรรดิเยอรมัน แต่ลักษณะของกระต่ายแคระสีขาวตาฟ้าในขณะนั้นจะมีโครงสร้างกระดูกที่ใหญ่ ลำตัวที่ยาวกว่า ขนหยาบและสั้นกว่าของขาวตาทับทิม จนกระทั่งถึงช่วง ปลายทศวรรษปี 1930 หรือราว พ.ศ. 2480-2483 กระต่ายแคระที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในขณะนั้น จึงมีเพียงแค่ 2 ประเภทสีเท่านั้น คือ ขาวตาทับทิม และ ขาวตาฟ้า
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 ถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่าย และในปี ค.ศ. 1969 หรือ พ.ศ. 2512 กระต่ายสายพันธุ์นี้ ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา จนได้รับการยอมรับจากสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Rabbit Breeders Association, Inc. หรือ ARBA) โดยมีการปรับปรุงข้อกำหนดของรายละเอียดมาตรฐานสายพันธุ์จากของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักร (The British Rabbit Council) เพียงนิดหน่อยเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทย เมื่อปลายปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 ได้มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้คุณภาพระดับประกวดจากสหรัฐอเมริกา สำหรับสมาชิกชมรมคนรักกระต่ายแห่งประเทศไทย สีที่นำเข้ามาในขณะนั้น คือสีขาวตาฟ้า สีดำสร้อยทอง (Black Otter) และสีดำสร้อยเงิน (Black Silver Marten) และในปีต่อมา ก็ได้มีการนำเข้า สีต่างๆ ที่แปลกและสวยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สีทองแดง (Siamese Sable) สีควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl) สีฮิมาลายัน (Himalayan) และสีที่หายาก อย่างสีวิเชียรมาศ (Sable Point) หรืออย่าง สีพื้นเช่น สีดำ สีบลู (Blue) สีชอกโกแลต ทำให้ในขณะนี้ ประเทศของเราก็มีกระต่ายสายพันธุ์นี้ในประเภทสีต่างๆ มากมาย ดังที่ได้เห็นกันแล้วตามงานประกวดต่างๆ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้จากประเทศต้นกำเนิดคือ เนเธอร์แลนด์ ความแตกต่างหลักๆของกระต่ายจากสหรัฐอเมริกาและจากเนเธอร์แลนด์ นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพ อันได้แก่ น้ำหนัก หุ่น รูปทรง หัว กะโหลก และลำตัว ระบบเพดดีกรีและการจดทะเบียนของสหรัฐอเมริกาถือได้ว่ามีระบบที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งดีกว่าของกระต่ายทางเนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังไม่มีการจดทะเบียนที่มีระบบ จึงทำให้กระต่ายจากทางสหรัฐอเมริกามีคุณภาพและราคาที่สูงกว่า

ในปัจจุบันสายพันธุ์นี้เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงมากในวงการนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายสวยงาม จนถือได้ว่าเป็น อัญมณีแห่งวงการกระต่ายสวยงาม (Gem of the Fancy Rabbits)

**ลักษณะของสายพันธุ์**
ลักษณะมาตรฐานของสายพันธุ์โดยทั่วไปของสายพันธุ์กระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์
หรือเนเธอร์แลนด์ดวอฟ คือ มีลำตัวสั้น กะทัดรัด ไหล่ สะโพก ความสูง มองดูโดยรวมแล้วสมมาตรกันอย่างสวยงาม หัวมองดูกลม ไม่ว่าจะมองจากมุมใด คอสั้นมากเท่าที่จะเป็นไปได้ หูตั้ง ตรง มีขนเต็ม และมีความแน่น ไม่บางจนเกินไป ตากลม โต สดใส ขนดูแลรักษาง่าย เวลาหวีย้อนแนวขน ขนสามารถกลับมาเป็นทรงเดิมได้

-น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 0.9 กิโลกรัม
-น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.15 กิโลกรัม

**มาตรฐานสายพันธุ์**
รูปร่าง ทรง และลักษณะทั่วไป

-ลำตัว ลำตัวต้องสั้น เล็กกะทัดรัด ไหล่หนา และมีความกว้างเท่ากับความกว้างของสะโพกความกว้างและส่วนสูงจะต้องใกล้เคียงกัน ไหล่โค้งได้รูปรับกับส่วนโค้งของสะโพกที่กลมกลึง ซึ่งทำให้เน้นความสูงของตัวกระต่าย โดยที่ความกว้างและส่วนสูงจะต้องสมดุลกัน

-หัว หัวโต มีขนาดใหญ่สมดุลกันกับลำตัว ตัวผู้จะมีหัวใหญ่กว่าตัวเมีย หัวเป็นทรงกลมเมื่อมองจากทุกทิศทาง ส่วนโค้งของหัวมองดูกลมไม่มีสะดุด หัวตั้งสูงและติดกับไหล่มากที่สุด

-หู หูจะต้องสั้นและตั้งอยู่บนส่วนหัว หูตั้งแต่ไม่จำเป็นต้องชิดติดกัน มีขนเต็มสม่ำเสมอ แสดงถึงความมีเนื้อของส่วนฐานของหู ปลายหูมน ความยาวของหูในอุดมคติคือ 2 นิ้ว ขนาดของหูต้องสมดุลกันกับหัวและลำตัว

-ตา ดวงตาต้องกลม โต สดใส สีของตาต้องตรงตามมาตรฐานของประเภทสีที่ทำการประกวด ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดในเล่มต่อไป เช่น สีบลูหรือสีสวาดหรือสีเทาควันบุหรี่ ต้องมีตาสีเทา เป็นต้น ข้อยกเว้นในกระต่ายสีช็อกโกแล็ต สีไลแลคหรือสีเทากาบบัว และกลุ่มสีเฉด รวมถึงพวกสร้อยเงิน รูม่านตาอาจจะเป็นสีแดงสะท้อนออกมาได้ เรียกว่า Ruby Glow หรือ Ruby Red Reflection ในแสงปกติ ซึ่งกรรมการไม่ควรที่จะมาคำนึงถึงตรงส่วนนี้เวลาประกวด เพราะว่าไม่มีกระต่ายตัวไหนที่จะถูกตัดสิทธิ์หรือถูกหักคะแนนจากการที่มีสีแดงสะท้อนออกมาจากรูม่านตา

-หาง ลักษณะของหางต้องตรง และมีขนเต็ม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการให้คะแนนในส่วนหางของกระต่าย แต่ถ้าหางมีลักษณะที่บกพร่องบ้าง ก็อาจจะถูกหักคะแนนบ้างจากลักษณะประกอบอื่นๆ แต่ถ้าบกพร่องมาก ก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดได้เช่นกัน

-ขน ลักษณะขนต้องเป็นแบบโรลแบ็ค (Rollback) เท่านั้น โรลแบ็ค หมายถึง ลักษณะขนที่เมื่อใช้มือลูบย้อนแนวขน ขนจะค่อยๆ กลับคืนตัวสู่ตำแหน่งเดิม คุณภาพของขนต้องนุ่ม หนาแน่นสม่ำเสมอกัน ขนไม่ตายและเป็นมันเงางาม

-สี ลักษณะของสีขนและสีตาต้องตรงกันตามมาตรฐานของสีนั้นๆ สีเล็บก็ต้องตรงตามมาตรฐานของสีนั้นๆ ด้วย กระต่ายจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด เมื่อปรากฏเล็บขาว ในกระต่ายสี สุดท้ายสีขนชั้นนอกและสีขนชั้นในไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด

**ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์**
ไหล่แคบ ลำตัวยาวและแคบ หัวไหล่หรือสะโพกแคบ ส่วนโค้งหลังแบนราบไม่โค้ง ดังนั้นถ้าความกว้าง ความยาวและส่วนสูง ไม่สัมพันธ์กัน จึงถือว่าเป็นลักษณะที่บกพร่องทั้งสิ้น ลักษณะหัว ที่มีจมูกแหลม บาน หรือแบน ถือเป็นลักษณะที่ไม่ต้องการ หัวใหญ่หรือเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับตัว หัวไม่สมดุลกับตัวและหู หัวขาดความกลมถือเป็นลักษณะที่บกพร่องทั้งสิ้น หูบาง หูงอ หูพับ ขนที่หูไม่สม่ำเสมอ หูแบน หูเป็นรูปตัววีกางมากเกินไป เส้นขนยาวเกินไป ขนบาง ขนไม่หนาแน่น กระต่ายอยู่ในช่วงผลัดขน สีจางไม่เท่ากัน หรือมีสีปะคือมีสีอื่นปรากฏขึ้นมาในที่ที่ไม่ควรเป็น และที่ยอมไม่ได้มากที่สุดคือ ขนปรากฏเป็นแบบฟลายแบ็ค (Flyback) คือเมื่อลูบขนย้อนแนว จะตีกลับสู่ตำแหน่งเดิมในทันที ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้กระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟแตกต่างจากกระต่ายพันธุ์โปลิช

**ลักษณะที่ปรับเป็นโมฆะจากการประกวด**
เมื่อมีเหนียงใต้คอ กระต่ายที่มีหูยาวเกิน 2 นิ้วครึ่ง เมื่อกระต่ายประกวดในกลุ่มสีใดๆ ถ้าหากปรากฏว่ามีขนแซมสีขาวขึ้นมา หรือกระต่ายสีขาว หรือกลุ่มสีฮิมาลายัน แต่ขนสีอื่นปรากฏแซมขึ้นมา จะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดการจัดท่าทาง เวลาประกวดกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ จะจัดระเบียบร่างกายให้เป็นไปตามธรรมชาติของสายพันธุ์นี้ที่สุด คือ ไม่ควรยืดลำตัวให้ยาวออก หรือดันมาให้ติดกัน ไม่ควรจัดท่าให้กระต่ายอยู่ในท่ายืนถ่ายน้ำหนักไปที่ขาหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความสูง และความสมดุลของตัวกระต่ายจะหายไป ทำให้ตัวกระต่ายไม่แลดูสั้นและกะทัดรัด การจัดระเบียบร่างกายที่ดีคือ ต้องแสดงถึงความสมดุลกันทั้งความกว้าง ความยาวและส่วนสูง ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดของกระต่ายแคระ


**กลุ่มสีที่ตรงตามมาตรฐาน**
กระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟเป็นกระต่ายที่จัดได้ว่า มีสีให้เลือกได้มากมายมากที่สุดในบรรดากระต่ายสายพันธุ์ต่างๆทั้งหมดที่มี คือสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มสี และมีสีหรือลักษณะสีย่อยๆ อีกกว่า 24 สี สีตามมาตรฐานที่สมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ARBA กำหนดให้มีการประกวดในกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ มีกลุ่มสีถึง 5 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มสีพื้น (Self Varieties) กลุ่มสีเฉด (Shaded Varieties) กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Varieties) กลุ่มแทนหรือกลุ่มมีสร้อย (Tan Varieties) และกลุ่มสีอื่นๆ Any Other Varieties)

-กลุ่มสีพื้น (Self Varieties) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนสีเดียวเหมือนกันตลอดทั้งตัว ประกอบด้วย 5 สี 6 ประเภท ได้แก่
สีดำ
สีบลู (Blue)-เป็นสีเทาเข้ม (สีเรือรบ) เหมือนสีของแมวสีสวาด
สีช็อกโกแล็ต
สีไลแลค (Lilac)
สีขาวตาฟ้า (Blue Eyed White) และ
ขาวตาทับทิม (Ruby Eyed White)

-กลุ่มสีเฉด (Shaded Varieties) คือกลุ่มสีขนที่มีความเข้มของสีเดียวกันในแต่ละตำแหน่งของตัวไม่เท่ากัน ตำแหน่งที่มีความเข้มของสีแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ จมูกและขาทั้งสี่ จะมีสีที่เข้มกว่า ส่วนอื่นๆของตัว ประกอบด้วย 4 สี ได้แก่
สีซาเบิ้ลพอยท์ (Sable Point)-เป็นสีครีมทั้งตัว มีแต้มสีน้ำตาลเข้ม เหมือนสีของแมววิเชียรมาศ
สีซาเบิล (Siamese Sable)-เป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม เหมือนสีของสุนัขไทยสีทองแดง
สีเทาควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl)-เป็นสีเทาควันบุหรี่
สีกระ (Tortoise Shell)-เป็นสีกระ เหมือนสีของกระดองเต่ากระ พื้นขนออกสีน้ำตาล แต่มีแต้มที่จมูกและขาเป็นสีน้ำตาลที่เข้มกว่า

-กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Varieties) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนมากกว่าหนึ่งสีในขนเส้นเดียวกัน เมื่อสังเกตอย่างใกล้ชิดจะเห็นขนถูกแบ่งเป็นสามแถบอย่างชัดเจน ประกอบด้วย 5 สี ได้แก่
สีเชสนัท (Chestnut)-เป็นสีน้ำตาลเชสนัท แซมดำที่ปลายขนเหมือนสีกระต่ายป่า
สีชินชิลล่า (Chinchilla)-เป็นสีเทาแซมดำที่ปลายขนเหมือนสีตัวชินชิลล่า
สีลิงซ์ (Lynx)-เป็นสีส้มแซมสีเทาเงิน
สีโอปอล (Opal)-เป็นสีฟางข้าว ขนชั้นในเป็นสีบลู
สีกระรอก (Squirrel)-เป็นสีเทา แซมบลู หรือเทาเข้มที่ปลายขน เหมือนสีของกระรอก

-กลุ่มแทนหรือกลุ่มมีสร้อย (Tan Varieties) แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต หรือสีไลแลค และอีกกลุ่มคือประเภทที่มีสีทองแดงและสีเทาควันบุหรี่ แต่ที่สำคัญคือ สำหรับสีทุกประเภทจะต้องมีสร้อยหรือเป็นแถบขนสีขาวหรือสีที่กำหนดพาดที่คอ แลดูเหมือนกับสร้อย และผ้าพาดคอพาดอยู่
กลุ่มสร้อยทอง (Otter)-เป็นประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต หรือสีไลแลค ที่บริเวณหัว หูส่วนนอก หลังเท้าหน้า ส่วนนอกของขาหลัง และส่วนหลังและลำตัวด้านข้าง แต่จะมีมาร์กกิ้งที่คอ (ส่วนกราม) หลังคอเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนท้อง จมูกส่วนล่าง รอบดวงตา หางส่วนล่าง หูส่วนใน และส่วนในของขาหน้าและขาหลัง จะเป็นสีครีม แต่มีสีส้มแซมเป็นมาร์กกิ้งในกระต่ายสีพื้นดำหรือช็อกโกแล็ต หรือมีสีฟางข้าวแซมเป็นมาร์กกิ้งในกระต่ายสีพื้นบลูและไลแลค ทำให้แลดูเหมือนเป็นสร้อยทองคล้องอยู่
กลุ่มสร้อยเงิน (Silver Marten)-เป็นประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้เหมือนกับของกลุ่มสร้อยทอง แต่จะมีมาร์กกิ้งที่คอ (ส่วนกราม) หลังคอเป็นรูป
สามเหลี่ยม ส่วนท้อง จมูกส่วนล่าง รอบดวงตา หางส่วนล่าง หูส่วนใน และส่วนในของขาหน้าและขาหลัง จะเป็นสีเทาเงิน ทำให้แลดูราวกับว่ามีสร้อยเงินคล้องอยู่
กลุ่มสร้อยนาค (Tans)-เป็นประเภทที่มีขนสีพื้นเป็นสีตามที่กำหนดไว้เหมือนกับของกลุ่มสร้อยทองและสร้อยเงิน แต่จะมีมาร์กกิ้งที่คอ (ส่วนกราม) หลังคอเป็นรูป สามเหลื่ยม ส่วนท้อง จมูกส่วนล่าง รอบดวงตา หางส่วนล่าง หูส่วนใน และส่วนในของขาหน้าและขาหลัง จะเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม คล้ายสีนาค ทำให้เหมือนมีสร้อยนาคอยู่
สีทองแดงสร้อยเงิน (Sable Marten)-เป็นสีทองแดง แต่มีมาร์กกิ้งต่างๆ คล้ายกับของกลุ่มสร้อยเงิน
สีเทาควันบุหรี่สร้อยเงิน (Smoke Pearl Marten)-เป็นสีเทาควันบุหรี่ แต่มีมาร์กกิ้งต่างๆ คล้ายกับของกลุ่มสร้อยเงิน
หมายเหตุ ลำดับที่ใช้ในการอธิบายอาจจะแตกต่างไปจากลำดับที่ใช้ในการประกวดคือ Otter – Sable Marten – Silver Marten – Smoke Pearl Marten – Tans ทั้งนี้เพื่อความง่ายต่อการอธิบายและความเข้าใจ

-กลุ่มสีอื่นๆ (Any Other Varieties) คือกลุ่มสีที่ไม่สามารถจัดให้เข้าอยู่กับกลุ่มสีอื่นๆ ข้างต้นได้ เป็นกลุ่มสีที่มีลักษณะเฉพาะตัว มี 4 สีด้วยกัน ได้แก่
สีฟางข้าว (Fawn)
กลุ่มหิมาลายัน (Himalayan)-กลุ่มที่มีสีขนพื้นลำตัวเป็นสีขาว แต่มีแต้มที่ จมูก หูทั้งสอง ขาทั้งสี่ และหาง โดยจะต้องมีสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต และสีไลแลค แต่ที่สำคัญคือ จะต้องมีตาสีทับทิม
สีส้ม (Orange) และ
สีสนิมเหล็ก (Steel)-มีสีดำทั้งตัว และมีปลายขนเป็นสีน้ำตาล
เนื่องจากคะแนนที่ให้สำหรับสีมีมากถึง 15 คะแนน หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะของสีขนและสีตาจึงต้องตรงกันตามมาตรฐานของสีนั้นๆ นอกจากนี้ สีเล็บก็ยังต้องตรงตามมาตรฐานของสีนั้นๆ อีกด้วย กระต่ายจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด โดยเฉพาะเมื่อปรากฏเล็บขาวในกระต่ายสี สุดท้ายสีขนชั้นนอกและสีขนชั้นในไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ถือว่าเป็นลักษณะที่บกพร่องและถูกหักคะแนนได้
ลักษณะที่ปรับเป็นโมฆะหรือจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด คือเมื่อกระต่ายประกวดในกลุ่มสีใดๆ ถ้าหากปรากฏว่ามีขนแซมสีขาวขึ้นมาอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน หรือมีจำนวนมากเกินไป หรือกระต่ายสีขาวหรือกลุ่มสีหิมาลายันแต่มีขนสีอื่นปรากฏแซมขึ้นมา เราจะถือว่ากระต่ายตัวนั้นมีลักษณะที่ต้องถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้ยังไม่ได้กำหนดให้มีมาตรฐานของกระต่ายที่มีลายหรือเป็นสีขาวจุด หรือสีขาวปะ เพราะฉะนั้น กระต่ายที่มีลายทั้งหมด (หรือเรียกว่า Broken) หรือกระต่ายที่เป็นลายหน้ากาก (หรือ Dutch mark) ก็ถือว่าไม่ตรงตามมาตรฐานสำหรับการประกวดของ ARBA ดังนั้นการเลือกซื้อกระต่ายสายพันธุ์นี้ ให้ถูกต้องตามสีมาตรฐาน และเพื่อใช้ประกวด จะต้องจำไว้ว่า สีจะต้องตรงตามสีหรือกลุ่มสีทั้ง 24 นี้เท่านั้น แต่ถ้าเลี้ยงเล่นๆ ก็ไม่ว่ากัน
ลักษณะอย่างไรเรื่องว่าสวย
ภาพวาดร่างวาดโดย คุณธีโอ แจนเซ่น นักพัฒนาพันธุ์กระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟที่มีชื่อเสียง ชาวเนเธอร์แลนด์ จากภาพอธิบายได้ว่า ลักษณะของกระต่ายสายพันธุ์นี้ ที่สวยงามระดับประกวด จะต้องมองดูจากด้านข้างแล้ว เหมือนวงกลมสามวง คือที่หัว ตัวและสะโพก ที่จะต้องมีขนาดที่สมดุลกันทั้งหมด หรืออาจจะมองได้ว่ามี สี่เหลี่ยมผืนผ้า 6 ส่วนดังรูป


**หนังสืออ้างอิง**
The American Netherland Dwarf Rabbit Club, 1996. Netherland Dwarf Official Guide Book (Six Edition).
The American Rabbit Breeders Association, Inc., 2001. Standard of Perfection: Standard Bred Rabbits and Cavies 2001 thru 2005.


>>>""Holland Lop""
**ประวัติความเป็นมา**
นักพัฒนาพันธุ์กระต่ายชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ นายแอนเดรียน เดอคอก ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักพัฒนากระต่ายสายพันธุ์แทน แต่กลับมีความชื่นชอบกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟและสายพันธุ์เฟรนช์ลอปเป็นพิเศษ มีความคิดที่จะผสมกระต่ายให้ได้กระต่ายหูตกที่มีขนาดเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1949 หรือ พ.ศ. 2492 เขาได้ผสมกระต่ายเฟรนช์ลอปเพศผู้กับกระต่ายขาวเนเธอร์แลนด์ดวอฟเพศเมีย โดยหวังว่าจะได้กระต่ายหูตกที่ตัวเล็กลง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการผสมข้ามพันธุ์ในครั้งนั้น สองปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 1951 หรือ พ.ศ. 2494 เขาลองผสมกระต่ายเฟรนช์ลอปเพศเมียกับกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟเพศผู้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะผสมกระต่ายต่างสายพันธุ์ที่มีขนาดที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ แต่เขาก็ประสบความสำเร็จ จากความพยายามผสมในครั้งที่ 3 จนกระทั่งได้ลูกกระต่ายออกมาทั้งหมดหกตัว ทุกตัวมีหูตั้งและชิดกัน อันเกิดจากลักษณะเด่นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ซึ่งข่มทับอย่างสมบูรณ์ ในปีถัดมา เขานำลูกกระต่ายเพศเมียเหล่านั้นไปผสมกับกระต่ายอิงลิชลอปเพศผู้สีฟางข้าว ได้ลูกกระต่ายออกมาห้าตัว ตัวเมียหนึ่งตัวในครอกนี้หูตก สองตัวหูตั้ง ที่เหลือ หูตกข้างตั้งข้าง ด้วยความที่ฝืนธรรมชาติกระต่ายเพศเมียที่ได้ทุกตัวจากการทดลองผสมข้ามสายพันธุ์ ไม่สามารถผสมติดให้ลูกเลย กระนั้นเขาก็ไม่ได้ละความพยายาม เขาได้ทดลองเอาพี่น้องต่างครอกผสมกัน ผลปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ จำนวนลูกหูตกที่ได้มากขึ้นและก็มีขนาดที่เล็กลงด้วย จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1955 หรือ พ.ศ. 2598 ความพยายามของเขาก็เป็นผลสำเร็จ กระต่ายต้นแบบฮอลแลนด์ลอปได้ถือกำเนิดมาที่น้ำหนักประมาณ 2.5 ถึง 3 กิโลกรัม ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1964 หรือ พ.ศ. 2507 กระต่ายแคระหูตกฮอลแลนด์ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานสายพันธุ์จากสภากระต่ายแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าสองกิโลกรัม

กระต่ายแคระหูตกฮอลแลนด์ของแอนเดรียน ได้นำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1976 หรือ พ.ศ. 2519 และได้มีการเสนอให้มีการยอมรับสายพันธุ์นี้ต่อสมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายของสหรัฐอเมริกา ที่งานประกวดกระต่ายสวยงาม ณ ทักสัน ในปี ค.ศ. 1980 หรือ พ.ศ. 2523

**ลักษณะของสายพันธุ์**
ถ้าจะกล่าวถึงกระต่ายที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นกระต่ายหูตกนั่นเองอันเนื่องมาจากลักษณะที่โดดเด่นในตัวของกระต่ายเองคือมีหูตกอยู่ที่ข้างแก้มซึ่งจัดว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างจากกระต่ายปกติที่เราคุ้นเคยคือต้องมีหูตั้งแต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้กระต่ายสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงในหมู่คนเลี้ยงกระต่าย แต่เป็นเพราะเนื่องจากกระต่ายพันธุ์นี้เป็นกระต่ายที่มีความเชื่องมากที่สุดพันธุ์หนึ่งหุ่นที่แข็งแรงบึกบึน*หูตก*ขนสั้น สามารถจดจำชื่อของตัวเองได้และยังรู้จักเจ้าของอีกนอกจากนี้ลักษณะภายนอกที่เห็นเด่นชัดก็ไปมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับสุนัขพันธุ์คอกเกอร์สแปเนี่ยลที่มีหูตกห้อยอยู่ข้างแก้มด้วยคุณลักษณะทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เราจึงสามารถกล่าวได้ว่ากระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปนี้เป็นกระต่ายในดวงใจของผู้นิยมเลี้ยงกระต่ายหลายๆท่าน รวมทั้งในต่างประเทศด้วยอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกากระต่ายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นอย่างมากจนถึงกับมีการตั้งมอตโต้ของกระต่ายสายพันธุ์นี้ ว่าเป็น ฮอลมาร์กบรีด (The Hallmark Breed) หรือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เป็นตราเครื่องหมายของกระต่ายเลยทีเดียว
กระต่ายสายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปจัดว่าเป็นกระต่ายกลุ่มหูตกที่มีขนาดเล็กที่สุดเพราะว่าเมื่อดูจากประวัติของสายพันธุ์ก็มาจากกระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์ดวอฟกระต่ายสายพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่หัวกลมโตแลดูน่ารักเหมือนตุ๊กตา มีน้ำหนักน้อยและลำตัวสั้นซึ่งแตกต่างจากกระต่ายโดยทั่วไปจึงทำให้เป็นกระต่ายที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในขณะนี้ การที่มีขนาดลำตัวที่สั้นไหล่ที่กว้างหนาและมีความสูงสมดุลกันทั้งตัวทำให้แลดูเหมือนก้อนกลมๆหูที่สั้นไม่ยาวมาก ทำให้แลดูน่ารัก โดยปกติ หูยิ่งสั้น ยิ่งดี เพราะว่าจะแสดงถึงลักษณะของกระต่ายแคระ
ในเพศผู้จะมีขนาดลำตัวและหัวที่ใหญ่กว่ากล้ามเนื้อเด่นชัดกว่าในเพศเมียจะแสดงออกถึงลักษณะของเพศเมียมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็จะแสดงถึงลักษณะของสายพันธุ์ที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว
สำหรับชื่อที่ใช้เรียกกระต่ายสายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป ในแต่ละประเทศก็จะเรียกแตกต่างกันไป อันอาจจะก่อให้เกิดความสับสนได้โดยง่าย เช่น ในประเทศอังกฤษ (The British Rabbit Council) จะเรียกฮอลแลนด์ลอป ว่าเป็น มินิลอป แต่กลับเรียกมินิลอปเป็น ดวอฟลอป
สำหรับในประเทศไทยไม่ได้เกิดจากการเรียกชื่อที่ผิดแต่เนื่องจากผู้เลี้ยงกระต่ายในเมืองไทยยังคงมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานสายพันธุ์ของกระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปนี้อย่างผิดๆโดยเข้าใจว่ากระต่ายหูตกลูกผสมที่มีลักษณะคล้ายกับกระต่ายพันธุ์มินิลอปแต่ขนกระด้างเหมือนกระต่ายไทยทั่วไปคือฮอลแลนด์ลอปสายพันธุ์แท้ทั้งๆที่กระต่ายสองสายพันธุ์นี้มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือกระต่ายฮอลแลนด์ลอปจะมีหัวที่กลมกว่ามินิลอป น้ำหนักตัวที่น้อยกว่ามากคือ 1.6-1.8 กิโลกรัม ในขณะที่มินิลอปจะหนักกว่ามาก คือ กว่าสองกิโลกรัม (2.5-2.7 กิโลกรัม) เมื่อโตเต็มที่ หน้าและความยาวของหู สัดส่วนระหว่างหัวกับตัวซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน (ดังรูป) แต่ที่สำคัญและแตกต่างที่สุด ก็คือเรื่องของขน กระต่ายฮอลแลนด์ลอปสายพันธุ์แท้จะมีขนที่นุ่มลื่นเป็นเอกลักษณ์
**มาตรฐานสายพันธุ์**
สายพันธุ์กระต่ายฮอลแลนด์ลอปในอุดมคติที่เราจะจัดว่าสวยตรงตามมาตรฐานของสายพันธุ์ จะต้องมีหัวที่กลมโต กล้ามเนื้อหนาแน่น ลำตัวสั้น กะทัดรัด และสมมาตรทั้งความยาว ความกว้างและความสูง สัดส่วนของลำตัวและหัว ควรจะเป็น 3:1 ไหล่และอกกว้าง หนาและเต็ม เช่นเดียวกันกับสะโพก หัวที่โตต่อติดกับหัวไหล่ เหมือนไม่มีคอ ขาสั้น หนา ตรงและกระดูกใหญ่ หูทั้งสองข้างต้องตกแนบแก้ม เมื่อมองจากด้านหน้าตรง จะดูเหมือนเป็นรูปเกือกม้า หูต้องหนาและมีขนขึ้นเต็ม หูยาวเลยจากคางไปไม่เกิน 1 นิ้ว ความยาวของหูต้องสัมพันธ์กับหัวและตัว
น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 1.6 กิโลกรัม (สำหรับตัวผู้) และ 1.7 กิโลกรัม (ในตัวเมีย) แต่น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.8 กิโลกรัม
**ลักษณะที่จะถูกหักคะแนนจากการประกวด**
ลำตัวยาวและแคบ ความกว้างและความสูงไม่สัมพันธ์กัน สันหลังโค้งผิดรูป ไหล่แคบหรือกว้างเกินไปไม่สมดุลกับลำตัวโดยรวม ไหล่อยู่ต่ำมาก สะโพกแคบ แบน ผอม มีกระดูก หัวยาวหรือแคบ หัวไม่สมดุลกับลำตัว เนื้อหูบาง หูไม่สมดุลกันกับลำตัว
**กลุ่มสีที่ตรงตามมาตรฐาน**
กระต่ายฮอลแลนด์ลอปมีสีมากมายหลากหลายสี จนสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้มากถึง 7 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มอะกูติ (Agouti) กลุ่มสีขาวแต้ม (Broken) กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม (Pointed White) กลุ่มสีพื้น (Self) กลุ่มสีเฉด (Shaded) กลุ่มสีพิเศษ (Ticked) และกลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band) หรือเราอาจจะกล่าวง่ายๆ ว่ามีสีต่างๆ ที่รับรองโดย ARBA แล้ว ดังต่อไปนี้ คือ
-กลุ่มอะกูติ : สีเชสนัทอะกูติ สีช็อกโกแล็ตอะกูติ สีชินชิลล่า สีช็อกโกแล็ตชินชิลล่า สีลิงซ์ สีโอปอล สีกระรอก (Squirrel)
-กลุ่มสีขาวแต้ม : สีขาวแต้ม คือสีขาว แต่มีสีแต้มเป็นสีอะไรก็ได้ ที่ได้รับการรับรอง รวมถึงสีไตรคัลเลอร์ หรือสามสี (มีสีขาว น้ำตาล และดำ)
-กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม : โดยที่มาร์กกิ้งต้องมีสีกลุ่มสีพื้น (สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค)
-กลุ่มสีพื้น : สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค สีขาวตาแดง และสีขาวตาฟ้า
-กลุ่มสีเฉด : สีวิเชียรมาศ สีทองแดง สีซีล สีเทาควันบุหรี่ และสีกระ
-กลุ่มสีพิเศษปลายขนสีน้ำตาล : ตอนนี้มีอยู่สีเดียวคือ สีสตีล หรือสีสนิมเหล็ก
-กลุ่มสีอื่นๆ : สีครีม สีฟางข้าว สีฟร้อสตี้ (เทาควันบุหรี่อ่อนๆ) สีส้ม และสีแดง
ในขณะนี้ได้มีสีอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับการรับรองเมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา คือ กลุ่มสร้อยทอง หรือ ออตเตอร์ สีทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสีมาตรฐานของสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Rabbit Breeders Association, Inc.) แต่ของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักร (The British Rabbit Council) ก็จะมีสีน้อยกว่านี้ แต่จะมีสีแปลกๆเพิ่มขึ้นมาแทน เช่น กลุ่มสีสร้อยเงิน เช่น สีเทาควันบุหรี่สร้อยเงินและสีทองแดงสร้อยเงิน เป็นต้น



>>>”””American Fuzzy Lop”””
**ประวัติความเป็นมา**
ต้นกำเนิดของอเมริกันฟัซซี่ลอปมาจากการผ่าเหล่าของฮอลแลนด์ลอป หรืออีกกระแสหนึ่งเล่าว่า กระต่ายสายพันธุ์นี้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างฮอลแลนด์ลอปที่ลักษณะขนเป็นแบบอังโกร่าในกลุ่มนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายทางฝากตะวันตกของสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ถูกขายไปยังฝั่งตะวันออก ลูกที่เกิดมาก็ยังมีขนที่ยาวเหมือนอังโกร่า เมื่อผสมลูกเหล่านี้ รุ่นหลานก็ยังปรากฏเป็นกระต่ายหูตกขนยาวอยู่ตลอดมา สายพันธุ์อเมริกันฟัซซี่ลอปถูกเสนอให้มีการยอมรับสายพันธุ์ต่อสมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายของสหรัฐอเมริกา ในงานประกวดกระต่ายสวยงาม ณ เมดิสัน รัฐวิสเคาส์ซิน ในปี ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 โดยเพตตี้กรีน คาร์ล

**ลักษณะของสายพันธุ์**
กระต่ายพันธุ์อเมริกันฟัซซี่ลอป (American Fuzzy Lop) เป็นกระต่ายขนาดเล็ก (Compact Type) จัดอยู่ในกลุ่มกระต่ายแคระ มีลักษณะเด่นคือ มีหูตกสวยงามและมีขนที่ยาวสลวย ลักษณะเด่นอื่นๆของสายพันธุ์กระต่ายหูตกอเมริกันฟัซซี่ลอป ก็คือ มีลำตัวสั้น กะทัดรัด หัวมีลักษณะกลม ขนาดใหญ่หนาและกว้างจากฐานของหูทั้งสองข้าง หูที่หนา และแบน หูยิ่งสั้นยิ่งถือว่ามีลักษณะที่ดี เพราะว่าเป็นการแสดงถึงลักษณะของกระต่ายแคระ หูจะต้องตกแนบข้างแก้ม หัวโตใหญ่ ต่อติดกับหัวไหล่ เหมือนไม่มีคอ หัวและหูปกคลุมด้วยขนธรรมดา ที่ไม่ใช่ขนยาว ขนที่หน้าสามารถตัดแต่งได้ตามความเหมาะสมและสวยงาม ขาหลังมีขนธรรมดา ฝ่าเท้าหนาและหนัก ขนที่ตัวหนาแน่นเสมอกันตลอดทั้งตัว ขนควรมีลักษณะค่อนข้างหยาบและมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว
เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้มีน้ำหนักและลำตัวยาวไม่มากเหมือนกระต่ายทั่วไป จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงอยู่ในขณะนี้ การที่มีขนาดลำตัวที่สั้น ไหล่ที่กว้างหนา และมีความสูงสมดุลกันทั้งตัว ทำให้ดูเหมือนเป็นก้อนฟูฟูกลมๆก้อนหนึ่ง เนื่องจากขนที่มีสองลักษณะคือ ขนชั้นในที่นุ่มฟูและมีขนาดสั้นกว่า ขนชั้นนอกที่มีความยาวและแลดูหยาบกว่าขนชั้นใน ทำให้ดูเหมือนอเมริกันฟัซซี่ลอปมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง ในเพศผู้ จะมีขนาดลำตัวและหัวที่ใหญ่กว่า กล้ามเนื้อเด่นชัด ในเพศเมียจะแสดงออกถึงลักษณะของเพศเมียมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็จะแสดงถึงลักษณะของสายพันธุ์ที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว
น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 1.6 กิโลกรัม (สำหรับตัวผู้) และ 1.7 กิโลกรัม (ในตัวเมีย)
น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.8 กิโลกรัม
**มาตรฐานสายพันธุ์**
สัดส่วนและขนาด
• น้ำหนักในเพศผู้ (พ่อพันธุ์) อายุตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป ไม่เกิน 4 ปอนด์ (1.8 กิโลกรัม) โดยมีน้ำหนักในอุดมคติคือ ไม่เกิน 3 ? ปอนด์ (1.6 กิโลกรัม)
• น้ำหนักในเพศเมีย (แม่พันธุ์) อายุตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป ไม่เกิน 4 ปอนด์ (1.8 กิโลกรัม) โดยมีน้ำหนักในอุดมคติคือ ไม่เกิน 3 ? ปอนด์ (1.7 กิโลกรัม)
• น้ำหนักกระต่ายรุ่น อายุไม่เกินหกเดือน น้ำหนักต้องไม่เกิน 3 ? ปอนด์ (1.6 กิโลกรัม) โดยมีน้ำหนักที่น้อยที่สุดสำหรับประกวด ไม่น้อยกว่า 1 ? ปอนด์ (8 ขีด)
ศีรษะ
มองจากหน้าตรง หัวมีความกว้าง หน้าผากโหนกลงมาถึงระหว่างตาทั้งสองข้าง ทำให้แลดูหัวเต็ม มองจากด้านข้าง หัวจะสั้นและหนา หัวกลม หน้าตัด หัวใหญ่ สังเกตเห็นได้ชัดเจน ขนาดของหัวต้องสัมพันธ์กันกับลำตัว ขนข้างแก้มสามารถตัดแต่งได้เพื่อความสวยงาม
ลักษณะที่ไม่เป็นที่พิจารณา หน้ายาว หัวแคบเล็ก ระหว่างตาแคบ หัวเล็กไม่สัมพันธ์กับลำตัว ขนข้างแก้มถูกตัดมากเกินไป


**กลุ่มสีที่ตรงตามมาตรฐาน**
สีตามมาตรฐานที่สมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ARBA กำหนดให้มีการประกวดในกระต่ายสายพันธุ์อเมริกันฟัซซี่ลอป มีกลุ่มสีถึง 6 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มสีพื้น (Self Group) กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Group) กลุ่มสีเฉด (Shaded Group) กลุ่มสีขาวมีแปดแต้ม (Pointed White Group) กลุ่มขาวลายแต้มสีต่างๆ (Broken Group) และกลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band Group)
-กลุ่มสีพื้น (Self Group) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนสีเดียวเหมือนกันตลอดทั้งตัว ประกอบด้วย 6 สี ได้แก่
• สีดำ
• สีบลู (Blue)-เป็นสีเทาเข้ม (สีเรือรบ) เหมือนสีของแมวสีสวาด
• สีขาวตาฟ้า (Blue Eyed White)
• สีช็อกโกแล็ต
• สีไลแลค (Lilac) และ
• ขาวตาทับทิม (Ruby Eyed White)
-กลุ่มสีขนอะกูติ (Agouti Group) คือกลุ่มสีขนที่มีสีขนมากกว่าหนึ่งสีในขนเส้นเดียวกัน ประกอบด้วย 5 สี ได้แก่
• สีเชสนัท (Chestnut)-เป็นสีน้ำตาลเชสนัท แซมดำที่ปลายขนเหมือนสีกระต่ายป่า
• สีชินชิลล่า (Chinchilla)-เป็นสีเทาแซมดำที่ปลายขนเหมือนสีตัวชินชิลล่า
• สีลิงซ์ (Lynx)-เป็นสีส้มแซมสีเทาเงิน
• สีโอปอล (Opal)-เป็นสีฟางข้าว ขนชั้นในเป็นสีบลู
• สีกระรอก (Squirrel)-เป็นสีเทา แซมบลู หรือเทาเข้มที่ปลายขน เหมือนสีของกระรอก
-กลุ่มสีเฉด (Shaded Group) คือกลุ่มสีขนที่มีความเข้มของสีเดียวกันในแต่ละตำแหน่งของตัวไม่เท่ากัน ตำแหน่งที่มีความเข้มของสีแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ จมูกและขาทั้งสี่ จะมีสีที่เข้มกว่า ส่วนอื่นๆของตัว ประกอบด้วย 4 สี ได้แก่
• สีซาเบิล (Siamese Sable)-เป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม เหมือนสีของสุนัขไทยสีทองแดง
• สีเทาควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl)-เป็นสีเทาควันบุหรี่
• สีซาเบิ้ลพอยท์ (Sable Point)-เป็นสีครีมทั้งตัว มีแต้มสีน้ำตาลเข้ม เหมือนสีของแมววิเชียรมาศ
• สีกระ (Tortoise Shell)-เป็นสีกระ เหมือนสีของกระดองเต่ากระ พื้นขนออกสีน้ำตาล แต่มีแต้มที่จมูกและขาเป็นสีน้ำตาลที่เข้มกว่า
-กลุ่มสีขาวมีแปดแต้ม (Pointed White Group) คือกลุ่มที่มีสีขนพื้นลำตัวเป็นสีขาว แต่มีแต้มที่ จมูก หูทั้งสอง ขาทั้งสี่ และหาง โดยจะต้องมีสีตามที่กำหนดไว้คือ สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค (Lilac) และที่สำคัญคือ จะต้องมีตาสีทับทิม
-กลุ่มขาวลายแต้มสีต่างๆ (Broken Group) คือกลุ่มที่มีสีขนพื้นลำตัวเป็นสีขาว และมีแต้ม หรือลายจุด กระจัดกระจายทั่วไปตามลำตัว แต่ต้องมีแต้มบังคับที่ ข้างจมูกและขอบตา ทั้งสองข้าง และต้องมีสีแต้มไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของลำตัวทั้งหมด
-กลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band Group) คือกลุ่มสีที่ไม่สามารถจัดให้เข้าอยู่กับกลุ่มสีอื่นๆ ข้างต้นได้ เป็นกลุ่มสีที่มีลักษณะเฉพาะตัว มี 2 สี ได้แก่ สีส้ม (Orange) สีฟางข้าว (Fawn)


**หนังสืออ้างอิง**
The American Rabbit Breeders Association, Inc., 2000. Raising Better Rabbits & Cavies (Official Guide Book).
The American Rabbit Breeders Association, Inc., 2001. Standard of Perfection: Standard Bred Rabbits and Cavies 2001 thru 2005.
The British Rabbit Council. The First Ever Breed Standards Book.
The Holland Lop Rabbit Specialty Club. Holland Lop Rabbit Specialty Club Official Guidebook. Fifth Edition 2002.

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น