วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ช่วงวัยของกระต่ายกับอาหาร

อะไรคืออาหารที่เหมาะสมสำหรับกระต่าย?

ที่จริงแล้ว อาหารหลักของกระต่ายคือ หญ้า เพราะสัตว์กินพืช ขนาดกระต่ายนี่ มันไม่มีปัญญาจะปีนป่ายขึ้นไปกินอะไรได้ แต่ก็นั่นแหละ ถ้าจะบอกว่าการเลี้ยงกระต่ายโดยให้กินเฉพาะหญ้าอย่างเดียวก็คงไม่มีใครเชื่อ ที่สำคัญก็คือ แม่ ๆ พ่อ ๆ ที่เลี้ยงกระต่ายอยู่ในเมือง แล้วรักเหมือนลูกอย่างพวกเรานี่ จะไปหาหญ้าหลากหลายชนิดจากที่ไหนให้เขา อีกอย่างหนึ่งอาหารกระต่ายที่ผลิตออกมาขายกันนั้นมีมากมายและล้วนแต่บรรยายสรรพคุณกันสุด ๆ ทั้งนั้น ซึ่งก็เหมาะสมเช่นกันที่จะนำมาเลี้ยงกระต่ายในห้องหรือในบ้านของเรา


บทความนี้จึงขอเดินสายกลาง คือขอให้คำแนะนำที่ถูกต้องและทำได้ ในการให้อาหารกระต่ายโดย ขอให้แบ่งช่วงวัยของกระต่ายออกเป็น ช่วง ๆ ดังนี้

1. กระต่ายวัยทารก (Infant/Baby) คือกระต่ายแรกเกิดจนถึง 1 เดือนครึ่ง
2. กระต่ายวัยเด็ก (Kids) คือเริ่มจากหย่านม ( ประมาณ 1 เดือนครึ่ง) จนถึง 3 เดือน
3. กระต่ายวัยรุ่น (Junior) คือช่วงหลัง 3 เดือน จนถึง 5 หรือ 6 เดือนแล้วแต่สายพันธุ์
4. กระต่ายโตเต็มวัย (Adult /Senior) เป็นกระต่ายที่พ้นวัยรุ่นมาแล้ว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
5. กระต่ายที่เริ่มตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก
6. กระต่ายมีอายุ...อันนี้พูดยาก ว่าจะเริ่มที่อายุเท่าไหร่ เป็นว่าพ้นวัย(ที่ควรจะ) ผสมพันธุ์ก็ แล้วกัน คือตกอยู่ในช่วง 4 ปีขึ้นไปสำหรับกระต่ายเพศเมีย ส่วนเพศผู้ก็อาจประมาณ 5 ปี

กระต่ายวัยทารก

อาหารหลักของกระต่ายวัยทารก ช่วงแรกเกิดจนถึง 15-20 วัน คือนมแม่เพียงอย่างเดียว พ้นจากนั้น กระต่ายน้อยจะเริ่มกินอาหารเม็ด(สำหรับกระต่ายเด็ก) ได้ ช่วงที่ควรกินแต่นมแม่นั้นเราไม่ควรเข้าไปยุ่งอะไร นอกจาก กรณี ต่อไปนี้ :-


แม่ตาย / แม่ไม่เลี้ยงลูก / แม่มีลูกมากเกินไปจนบางตัวแย่งเขากินไม่ทัน และอีกกรณีหนึ่งคือ ไปได้กระต่ายเด็กหรือลูกกระต่ายอายุน้อย ๆ มาเลี้ยง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ


นมที่พอจะหาได้และใกล้เคียงนมแม่กระต่ายที่สุดที่นิยมใช้กันเพื่อป้อนทารกกระต่าย มี 2 ยี่ห้อ คือ Esbilac และ KMR นมที่ใช้เสริม ในกรณีที่กระต่ายถูกพรากจากอกแม่ในวัยที่น้อยกว่า 1 เดือนครึ่ง อาจใช้ Esbilac และ KMR หรือประหยัดหน่อยก็เป็นนมแพะ ชนิด Sterilize ร่วมกับอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายวัยเด็ก
การให้นมลูกกระต่ายนี่ ผมขอยกไปเขียนเป็นเรื่องเป็นราวโดยละเอียดในอีกบทความหนึ่งต่างหากนะครับ

กระต่ายวัยเด็ก

มีอาหารเม็ดหลากหลายชนิดที่ตั้งใจผลิตกันขึ้นมาเพื่อกระต่ายวัยนี้ ซึ่งเป้นวัยที่ต้องการสารอาหารกลุ่มโปรตีนและแคลเซียมสูง เพื่อใช้ในการพัฒนากล้ามเนื้อและโครงสร้าง ยี่ห้อที่คุ้นหู้คุ้นตา คือ Oxbow รุ่น15/25 และ ยี่ห้อ Prestige รุ่น Junior และอีกหลากหลายชนิด

ในวัยเด็กนี้ ตามธรรมชาติ กระต่ายจะเริ่มกินหญ้าแล้ว แต่ในบ้านเรา มักจะบอกต่อ ๆกันมาว่า ห้ามให้ผักและหญ้าสดกับกระต่ายที่อายุไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งผมก็เห็นด้วยและขอเสริมเหตุผลให้ดังนี้

ในเมืองใหญ่ หรือแม้ในชนบทซึ่งมีการทำไร่ทำสวน ที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงกันมากมายนั้น การจะหาหญ้าที่สดสะอาดปราศจากสารเคมีและไข่พยาธิ ไข่แมลง นั้นเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งนัก จึงจำเป็นต้องแนะนำด้วยเหตุผลกันว่า ในวัยเด็กที่อายุยังไม่ถึง 3 เดือนนี่ น้ำหนักเขาน้อยมาก สารเคมีเพียงนิดเดียว (ไม่กี่ ppm) ที่กระต่ายใหญ่พอรับและขจัดได้ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับกระต่ายเล็ก ๆ ได้มากเพราะเมื่อเทียบปริมาณสารพิษกับน้ำหนักตัวแล้วนับว่าสูงทีเดียว


อีกประการหนึ่ง ร่างกายกระต่ายน้อยยังไม่แข็งแรง และระบบการกำจัดสารพิษยังไม่ดีพอที่จะจัดการกับสิ่งแปลกปลอมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการกรองสารเคมีจากเลือดสู่สมองซึ่งจะพัฒนาเต็มที่เมื่อย่างเข้าอายุ 3 เดือน และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมคุณหมอถึงไม่หยดยากำจัดพยาธิให้กระต่ายที่อายุไม่ถึง 3 เดือน

สรุปได้ว่า กระต่ายเด็กที่ยังอายุไม่ถึง 3 เดือน ควรให้อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายเด็กเสริมด้วยหญ้าแห้งที่ผลิตมาอย่างสะอาด เน้นหนักที่หญ้า (ต้นถั่ว) แห้งที่มีชื่อว่า Alfalfa เนื่องจากมีโปรตีนและแคลเซียมสูงดี

การให้อาหารกระต่ายในวัยเด็ก ผู้เลี้ยงกระต่ายมืออาชีพ นิยมให้อาหารแบบ Free Feed หมายความว่า ให้กินได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัด เพื่อให้พัฒนาการทางร่างกายของน้องต่ายโตเต็มที่

ที่ Bunny Delight เรา ใช้อาหารกระต่ายเด็ก ยี่ห้อ Prestige รุ่น Junior ส่วน Alfalfa เราใช้ยี่ห้อ KING ให้ทุกเช้า ส่วนตอนเย็นเราให้หญ้าแห้งหลากหลายชนิดสลับกัน
ทั้งหญ้า และอาหาร เมื่อครบ 24 ชั่วโมง คือทุกเช้า อาหารทั้งหมดที่เหลือค้าง ต้องเททิ้งก่อนจะชื้นและมีราขึ้น ส่วนภาชนะทุกใบก็ล้างแล้วตากแดด (เรามีภาชนะ 2 ชุดสลับกันใช้งาน



กระต่ายวัยรุ่น

กระต่ายวัยรุ่น กำลังมีพัฒนาการทางร่างกายที่ยังคงต้องการอาหารที่มีคุณค่าโปรตีนและแคลเซียมสูงอยู่ จึงยังคงให้กินอาหารสำหรับกระต่ายเด็กต่อไป ที่ต่างออกมาคือพออายุได้ 3 เดือน ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของน้องต่ายก็สมบูรณ์พอในขณะเดียวกัน น้ำหนักก็มากพอ สมควรที่จะเริ่มให้หญ้าสดกินได้แล้ว หญ้าสดที่หาได้ง่ายในบ้านเราและมีคุณค่าทางอาหารทีดีคือ หญ้าขน นี่เอง

ที่ Bunny Delight เราโชคดีที่อยู่บ้านนอก แม้ว่าแถวนี้จะมีการทำแปลงเกษตรอยู่บ้าง แต่ก็มีแปลงที่ดินของอภิมหาเศษฐี (คือท่านผู้มีที่ดินแล้วทิ้งไว้ให้หญ้าขึ้นเล่น ๆ ) อยู่หลายแปลง หญ้าขนแถวนี้จึงหาง่ายและอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักทั้งอวบทั้งยาว แม้กระนั้น เราก็เลือกตัดมาเฉพาะยอด มีใบ 3 – 4 ใบ ใน 1 ก้าน นำมาแช่ในน้ำยาล้างผัก ซึ่งก็เป็นตัวเดียวกันกับน้ำยาล้างขวดนม ซึ่งเป็นสารที่สกัดมาจากมะพร้าวและข้าวโพด แช่อยู่ 10 นาทีก็สบัดน้ำทิ้ง เพื่อล้างฝุ่นผงและสิ่งแปลกปลอม ถัดจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำเปล่า 1 ครั้งแล้วแช่ในน้ำที่ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต อีก 10 นาที เพื่อขจัดสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตราย ล้างน้ำเปล่าอีก2-3รอบ สบัดเบา ๆ แล้วผึ่งให้หมาดน้ำก่อนเสิร์ฟ

การเริ่มให้หญ้าสด ควรเด็ดเฉพาะยอดแหลม ๆ พร้อมใบ อีก 1 ใบ ให้กินตัวละ 1 ก้านก่อน แม้ว่าน้องต่ายจะหม่ำกร้วม ๆๆ รวดเดียวหมดแล้วทำท่ากระดี๊กระด๊า ตะกายกรง ประมาณว่า เอาอีก ๆๆ ก็ขอความกรุณาอย่าใจอ่อนเด็ดขาด รอดูอาการว่า ถัดจากนั้น อึเขายังเป็นปกติดี ไม่เหลว และไม่มีสัญญาญอันตรายใด ๆ วันต่อมาค่อยให้ 2 ก้าน แล้วดูอาการ หรือค่อย ๆเพิ่ม แต่ไม่เกินวันละ 4 ก้าน จนครบ 1 สัปดาห์ ถ้าทุกอย่างเป็นปกติ จะให้เท่าไหร่ก็เอาเลย

วัย 3 เดือนครึ่ง คือหลังจากให้หญ้าขนมาราว ๆ 1-2 อาทิตย์ ก็ลองให้ผักเสริมในช่วงเช้า ๆ หรือ ค่ำ ๆ ให้คราวละชนิดก่อน เมื่อไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ ก็จัดจานผักสลัดให้ได้เลย

สลัดผักสดที่ Bunny Delight ให้กับน้องต่ายของเรา อาทิตย์ละ 3-4 วัน คือ ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง ผักกาดหอม แครอทหั่นชิ้นเล็ก ๆ ข้าวโพดหวาน(ดิบ) แกะเมล็ด (อย่าให้มาก จะอ้วน) และแอปเปิ้ล (ระวังแกนและเมล็ด มีพิษจ้ะ) นาน ๆทีก็มี เซอราลี่ บ้าง คึ่นช่ายบ้าง กระเพรา ให้ตัวละ 1 ก้าน อาทิตย์ละ 1 ครั้ง

ผักที่ต้องห้ามสำหรับกระต่ายคือ ผักบุ้ง เพราะมียาง-ระบบย่อยอาหารของกระต่ายอาจรวนได้ / ถั่ว,กะหล่ำปลี ไม่ควรให้เพราะทำเกิดแกสในกระเพาะทำให้ท้องอืด และ กระถิน เพราะมีสารพิษที่ชื่อ Mimosine ทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ขนร่วง และต่อมไทรอยด์โต(คอพอก) สาร Mimosine นี้อาจลดลงได้ถ้าตากแดดหรืออบความร้อนในขบวนการผลิตอาหารสัตว์ระดับโรงงาน แต่สำหรับเรา ๆ เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไว้ก่อน จะปลอดภัยกว่า

กระต่ายโตเต็มวัย

เมื่อกระต่ายเริ่มอายุได้เกือบ ๆ 6 เดือน พัฒนาการต่าง ๆ จะถึงจุดคงที่แล้ว ต้องเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารสำหรับกระต่ายโต ซึ่งจะลดปริมาณโปรตีนลงและเน้น ไฟเบอร์มากขึ้น ควรผสมอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายโต กับอาหารเม็ดเดิม แทรกเข้าไปวันละประมาณ 15 - 20 % จนครบ 1 สัปดาห์ กระต่ายก็จะชินกับอาหารใหม่ทั้งหมด จากประสบการณ์พบว่าถ้าเป็นอาหารยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่างรุ่นกัน มักไม่มีปัญหา

การให้ Alfalfa ในช่วงวัยนี้ ควรลดลงเปลี่ยนเป็นหญ้าแห้ง พวก Timothy / Orchard / Mountain Hay /Bermuda /ฯลฯ แทน


การให้หญ้าสด และผัก ก็ให้เหมือนกระต่ายรุ่น คือให้หญ้าขนสด ตลอดวัน และเสริมผัก สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เลิกการให้อาหารแบบ Free Feed แล้วเริ่มคุมปริมาณอาหารเม็ดไว้ที่ 40-50 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าเขากินจนหมดแล้วยังหิวอยู่ เขาจะกินหญ้าสดและหญ้าแห้งแทนเอง ถ้าให้อาหารเม็ดมากไป จะอ้วน ทำให้อ่อนแอ ผสมพันธุ์ติดยาก


หญ้าแห้งจะช่วยให้ฟันหน้าของกระต่ายสบกันสนิท เนื่องจากต้องบดเข้าหากันในขณะเคี้ยวหญ้า ถ้ากระต่ายกินแต่อาหารเม็ดซึ่งขบปุ๊บแตกปั๊บ ฟันของกระต่ายจะไม่ได้บดเข้าหากันเหมือนเคี้ยวหญ้า อาจจะงอกยาวออกมาทำให้ฟันผิดรูปได้

กระต่ายที่เริ่มตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก

เมื่อกระต่ายท้อง กระต่ายต้องการสารอาหารมากสำหรับบำรุงตัวเองและลูกในท้อง ยังคงใช้อาหารสำหรับกระต่ายโต แต่กลับมาเสริมโปรตีนและแคลเซียมด้วย Alfalfa ในขณะเดียวกัน ปริมาณอาหารเม็ดและหญ้า ต้องให้มากพอ หรืออาจจะ Free Feed เลยก็ได้ ส่วนผักสด เพิ่มปริมาณข้าวโพดหวานดิบ และควรเสริมเซอราลี่ ให้ด้วย จะช่วยให้แม่กระต่ายสร้างน้ำนมได้ดีขึ้น

ให้อาหารแบบนี้กับกระต่ายหลังหย่านมลูกต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงดี แล้วจึงค่อยปรับอาหารให้เป็นอาหารของกระต่ายโตธรรมดา ต่อไป


กระต่ายที่มีอายุมาก

กระต่ายเลี้ยงนี่ มีอายุยืนนะครับ อาจจะประมาณ 10 ปีถึง 15 ปี พออายุมาก ๆ คือเกินกว่า 4-5 ปีแล้วนั้น แทบไม่มีกิจกรรมอะไรแล้ว เอามาปล่อยสนามหญ้า ก็วิ่ง เปาะๆ แปะๆ 2-3 นาทีก็นอนเหยียด ตาปรือ เอามาอุ้มเล่นได้ง่าย ไม่หือไม่อือ ไม่ดิ้นไม่ตะกาย เพราะนอกจากจะคุ้นกับเราจนเป็นเพื่อนรักไว้ใจกันได้สนิทใจแล้ว ก็ยังไม่รู้จะซนไปหาอะไรอีกแล้วด้วย อาหารที่เหมาะกับกระต่ายวัยนี้ จึงน่าจะเป็นหญ้าต่าง ๆ เน้นแต่ไฟเบอร์เป็นหลัก ให้โปรตีนให้แคลเซียมมากไปก็เดือดร้อนไต ที่ต้องขับออก ดังนั้นก็ให้อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายโตบ้าง แต่ไม่ต้องมาก 30-40 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโล ก็พอแล้ว วางหญ้าแห้ง (ที่ไม่ใช่ Alfalfa) และหญ้าสด ให้เป็นหลัก วัยนี้ ผอมนิดหน่อยดีกว่าอ้วนเกินครับ เขาจะได้นอนหนุนตักเราเล่นไปนาน ๆ

อาหารที่สำคัญสุด ๆของกระต่ายวัยเกษียณ คือ อาหารใจครับ อุ้มเล่น ลูบหัวลูบตัวพูดคุยกับเขา อย่าละเลยทอดทิ้ง อย่าเห่อกระต่ายใหม่ ๆ จนลืมเขา นะครับ



ภาชนะใส่อาหาร

ภาชนะที่ดี คือถ้วยเซรามิกทรงกลมหรือรี ที่มีขอบตั้งตรง สูงประมาณ 3 ซ.ม. ขนาดของถ้วยต้องไม่ใหญ่จนกระต่ายเอาก้นเข้าไปแหย่ได้ง่าย ๆ เพราะกระต่ายหลายตัว ชอบอึ และ/หรือ ฉี่ ใส่ถ้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเล็กมากเพราะน้ำหนักเบา กระต่ายจะคาบเหวี่ยงได้ง่ายเกินไป ที่ใช้อยู่และรู้สึกพอดี คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 ซ.ม.

ขอยืนยันให้ใช้ถ้วยแบบเซรามิก (กระเบื้องเคลือบ) เพราะทำความสะอาดง่าย แห้งไว ถ้วยแบบชามดินเผานี่ใช้ใส่หญ้าแห้งได้ แต่ใส่อาหารไม่เหมาะจึงไม่ขอแนะนำ เพราะชื้นง่ายแห้งยาก ราขึ้นอีกต่างหาก เปียกฉี่เปียกน้ำที ล้างแล้วรอครึ่งวันยังไม่อยากจะแห้งดีเลย แต่ถ้ามีผลัดเปลี่ยน 2 ชุด ก็พอใช้ได้ครับ

การอึหรือฉี่ใส่ถ้วยอาหารของกระต่าย อาจเกิดจากการที่เขาต้องการสร้างกลิ่นว่า ถ้วยนี้เป็นของเขา แต่ในบางกรณี เช่น ถ้าฟันของเขาเก ยาว หรือปากเจ็บ กระต่ายก็ “จำเป็น” ต้องฉี่ใส่อาหาร ให้มันนิ่ม จะได้กินง่าย ดังนั้น ถ้าพบว่ากระต่ายฉี่ใส่ถ้วยอาหาร ขอให้รีบอุ้มกระต่ายมาดูว่าปากและฟันของเขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า

เกือบลืมไป ว่า น้ำสะอาด คืออาหารที่จำเป็นมากสำหรับกระต่าย ยิ่งกระต่ายที่กินหญ้าแห้งและอาหารเม็ดซึ่ง “แห้ง” มากเมื่อเทียบกับอาหารในธรรมชาติ กระต่ายก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้นไปอีก

เตือน
การที่ พ่อ ๆ- แม่ ๆ ของน้องต่าย บางราย ที่อาจจะติดนิสัยจากการเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวมา แล้วก็เลยเผลอไผลไปว่า กระต่าย ก็เป็นสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน คงไม่ต่างอะไรกับหมากับแมว ว่าแล้วก็....ให้กระต่ายกินอะไรอย่างที่เรากินเพราะเคยให้หมาให้แมวแล้วมันก็กิน มีบางคนเล่าว่า แบ่งขนมให้กระต่ายกินบ้าง บางรายหนักถึงขนาดกินข้าวมันไก่ ก็แบ่งข้าวแบ่งไก่ให้กระต่ายกิน เลยได้รับ “คำเตือน” จากเพื่อน ๆ ไปเยอะพอสมพอควร


กระต่ายนั้น แม้จะมีสี่ขา มีขนยาว แต่ก็ต่างกับหมา-แมวโดยสิ้นเชิง หมา-แมว นั้น โดยธรรมชาติเป็นสัตว์นักล่า และกินเนื้อเป็นอาหารหลัก แต่กระต่าย เป็นผู้ถูกล่า และเป็นสัตว์มังสวิรัติคือไม่กินเนื้อเลย ระบบย่อยอาหารก็คนละเรื่องกันเลย (กรุณาอ่านเรื่องการย่อยอาหารของกระต่ายในบทความเรื่อง กระต่ายคืออะไร ในเว็บนี้ ครับ)


ดังนั้น อย่าให้อะไรกับกระต่ายกิน ถ้ามันไม่ใช่อาหารสำหรับกระต่าย และแม้ว่าอาหารบางอย่าง กระต่ายจะกินได้ แต่ขอให้ระวังเรื่องปริมาณ เช่น คุณอาจให้มะละกออบแห้งชิ้นขนาด 1 x 1 ซ.ม. สัก 1 ชิ้น กับกระต่ายได้ เพราะไม่มีอันตรายอะไร แต่ ถ้าให้สัก 10 ชิ้นล่ะ?


พึงนึกไว้เสมอว่า คนเรามี น้ำหนัก ประมาณ 50-60 เท่า ของน้ำหนักกระต่าย ดังนั้น อะไร 1 ชิ้นสำหรับเรา จะมีปริมาณเท่ากับ 50-60 ชิ้น สำหรับกระต่าย นึกไว้อย่างนี้เสมอ ๆ จะช่วยเตือนให้เราระวังยั้งมือ ไม่ให้ความรักความเอ็นดูที่เกินเหตุของเรา ทำร้ายกระต่ายที่เรารักโดยไม่ตั้งใจ

เครดิต http://www.rabbitcafe.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น